สำนักงานบัญชี รับทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี วางระบบบัญชี กรุงเทพ นนทบุรี โดย CPA : 091-830-3543|@beeaccountant
การตอบข้อหารือเกี่ยวกับภาษีอากรของกรมสรรพากร เป็นช่องทางสำคัญที่ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจำนวนมากใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติโดยหารือเป็นหนังสือไปยังกรมสรรพากร เพื่อให้มีหนังสือตอบจากกรมสรรพากรเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ ในบางกรณีก็อาจเป็นการเดินทางเข้าไปสอบถามด้วยวาจากับเจ้าหน้าที่นิติกรเพื่อให้ได้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาของตน
ดังนั้นในทางปฏิบัติเมื่อมีการพูดคุยซักถามเกี่ยวกับปัญหาภาษีอากรแล้ว เรามักจะได้ยินถ้อยคำที่คุ้นเคยกันเสมอๆ จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่า “มี Ruling หรือไม่” หรือ “เรื่องนี้มี Ruling ชัดเจน” หรือมี ข้อหารือกรมสรรพากร บ้างหรือเปล่า มาโดยตลอด ซึ่ง Ruling นั้นก็หมายถึงหนังสือตอบ ข้อหารือกรมสรรพากร นั่นเอง
จึงเกิดประเด็นคำถามขึ้นมามากมายว่า หนังสือตอบ ข้อหารือกรมสรรพากร มีความสำคัญอย่างไร มีบรรทัดฐานหรือสถานะอย่างไรต่อผู้เสียภาษีหรือต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสรรพากร ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมาย ซึ่งในอีกบทบาทหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้กำหนดแนวทางตอบข้อหารือของกรม-สรรพากร จึงขอนำเสนอบทความนี้ในแง่มุมของกฎหมายซึ่งอาจเป็นประเด็นให้มีการแลกเปลี่ยนหรือถกเถียงกันเพื่อให้ได้ผลสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
กระบวนการในการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรเป็นไปตามระบบการประเมินตนเองและเมื่อบุคคลใดมิได้เสียภาษีให้ถูกต้อง กรมสรรพากรก็จะทำการประเมินเรียกเก็บภาษีโดยทำเป็นหนังสือแจ้งการประเมิน โดยไม่ปรากฏว่าในกระบวนการจัดเก็บภาษีนั้น จะต้องมีการหารือปัญหาภาษีอากรต่อกรมสรรพากรก่อนแต่ประการใด จึงเห็นได้ว่า การตอบข้อหารือจึงมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดเก็บภาษีอากร หากแต่เป็นเพียงการให้ความเห็นประกอบเพื่อนำไปสู่การประเมินภาษีเท่านั้น การประเมินเรียกเก็บภาษีที่ได้กระทำถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประมวลรัษฎากรนั้นย่อมสมบูรณ์เสมอแม้จะมิได้มีการหารือปัญหาเกี่ยวกับภาษีอากรก็ตาม
การตอบ ข้อหารือกรมสรรพากร เป็นการให้บริการแก่ประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษี โดยมีลักษณะเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเสียภาษีเบื้องต้น มิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายใดๆ ในการสั่งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องกระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดตามหนังสือตอบข้อหารือ
หนังสือตอบข้อหารือมิใช่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรที่มุ่งสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างกรมสรรพากร กับผู้มีหน้าที่เสียภาษีในอันที่จะก่อให้เกิดหน้าที่ในการเสียภาษี เปลี่ยนแปลงหน้าที่ในการเสียภาษี โอนหน้าที่ในการเสียภาษี สงวนหน้าที่ในการเสียภาษี หรือระงับหน้าที่ในการเสียภาษีให้สิ้นไป
กล่าวคือการตอบข้อหารือนั้นไม่ทำให้หน้าที่ในการเสียภาษีของบุคคลใดๆ ที่ต้องมีอยู่ตามประมวลรัษฎากรนั้นเปลี่ยนแปลงหรือระงับไปจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ดังได้กล่าวแล้วว่าการตอบข้อหารือสรรพากร หรือหนังสือตอบข้อหารือสรรพากร เป็นการให้บริการที่มีลักษณะเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเสียภาษีเบื้องต้น
มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการสั่งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องกระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด จึงไม่มีผลบังคับกับบุคคลใดๆ และ
ที่สำคัญการตอบข้อหารือนั้นจะเป็นการตอบข้อหารือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเท่านั้น มิได้มีลักษณะที่ต้องค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยสั่งการใดๆ และไม่มีมาตรการบังคับทางปกครองใดๆ
กล่าวคือ เมื่อกรมสรรพากรได้ตอบข้อหารือเป็นหนังสือว่าผู้หารือไม่มีภาระภาษีใดๆ ก็ไม่อาจถือได้ว่าผู้หารือนั้นไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี เพราะหน้าที่ในการเสียภาษีจะต้องเป็นไปตามบทกฎหมาย มิใช่เกิดหรือระงับไปตามหนังสือตอบข้อหารือ เพราะหนังสือตอบข้อหารือ เป็นเพียงความเห็นที่ไม่อาจลบล้างความมุ่งหมายของบทบัญญัติกฎหมายได้
หรือในกรณีที่กรมสรรพากรได้ตอบข้อหารือเป็นหนังสือไปว่า ให้ผู้หารือต้องเสียภาษี หากผู้หารือไม่ปฏิบัติตาม กรมสรรพากรก็ไม่สามารถบังคับการให้เป็นไปตามหนังสือตอบข้อหารือนั้นๆได้ ไม่สามารถดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้วนำมาขายทอดตลาดเพื่อชำระภาษีอากร หรือจะนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลเพราะไม่ปฏิบัติตามหนังสือตอบข้อหารือเลยทันทีไม่ได้
กรณีที่การบังคับจัดเก็บภาษีจะต้องได้กระทำตามบทบัญญัติที่กำหนด ในประมวลรัษฎากร กล่าวคือ จะต้องทำการประเมินเรียกเก็บภาษีก่อน แล้วจึงจะมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ค้างชำระภาษีได้ นอกจากนี้ ในมุมของผู้เสียภาษีที่ได้รับหนังสือตอบข้อหารือไปนั้น หากตนเองไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรมสรรพากรได้ตอบข้อหารือเป็นหนังสือ ก็ยังไม่มีสิทธินำคดีไปฟ้องต่อศาลได้ เพราะการตอบข้อหารือนั้นมิใช่การเรียกเก็บหรือสั่งให้เสียภาษี
ข้อหารือกรมสรรพากรเมื่อการตอบข้อหารือกรมสรรพากรมิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายใดๆ ในการสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด
ข้อหารือกรมสรรพากรจึงมิใช่เป็นคำสั่งทางปกครองตามความหมายของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เพราะมิใช่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว
มิได้ทำให้หน้าที่ในการเสียภาษีของบุคคลใดๆ ที่ต้องมีอยู่ตามประมวลรัษฎากรนั้นเปลี่ยนแปลงหรือระงับไป เพราะหน้าที่ในการเสียภาษีจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อมิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล จึงไม่มีผลผูกพันให้กรมสรรพากรจะต้องปฏิบัติตามแต่ประการใด
ดังนั้น ในข้อเท็จจริงสำหรับการตอบข้อหารือรายใดรายหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีที่บุคคลนั้นๆ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามบทกฎหมายแล้ว แม้กรมสรรพากรจะตอบว่าเป็นกรณีที่ต้องเสียภาษีก็ไม่ได้ทำให้บุคคลนั้นต้อง เสียภาษีตามหนังสือตอบข้อหารือนั้น หรือหากเป็นกรณีที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติว่าเป็นกรณีที่ต้องเสียภาษีแล้ว หากแม้กรมสรรพากรตอบว่าไม่ต้องเสียภาษีก็ไม่เป็นการคุ้มครองบุคคลนั้นๆ ว่าไม่ต้องเสียภาษี เพราะหน้าที่ในการเสียภาษีต้องเป็นไปตามกฎหมายมิใช่เป็นไปตามหนังสือตอบข้อหารือ
บทบัญญัติแห่งกฎหมาย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้ให้นิยามว่า “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า
(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่นการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับ จดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
(2) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้วจะพบว่า คำสั่งทางปกครอง คือ คำสั่ง ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกโดยอาศัยอำนาจที่ให้ไว้ตามกฎหมาย ในการสั่งให้ประชาชนทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือหยุดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือเป็นคำสั่งที่ให้สิทธิหรือตัดสิทธิประชาชน ซึ่งคำสั่งเหล่านั้นจะมีผลกระทบต่อประชาชนคนใดคนหนึ่งผู้ได้รับคำสั่งโดยตรง
อาจกล่าวได้ว่า คำสั่งทางปกครองตามบทกฎหมายข้างต้นมีสองความหมาย คือ ความหมายโดยแท้ประการหนึ่ง และความหมายตามที่ฝ่ายปกครองจะได้บัญญัติให้เป็นกรณีไปในกฎกระทรวงอีกประการหนึ่ง เหตุผลที่กฎหมายให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจกำหนดให้คำสั่งใดเป็นคำสั่งทางปกครองได้ ก็เนื่องมาจากในบางกรณีอาจมีข้อโต้เถียงกันได้ว่า คำสั่งใดเป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ การที่ให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจกำหนดได้ว่าการใดเป็นคำสั่งทางปกครองได้เองนั้น ก็จะขจัดความไม่ชัดเจนแน่นอน และทำให้ประชาชนผู้รับคำสั่งทราบสิทธิหน้าที่ของตนว่าตนจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
ผศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้กล่าวไว้ว่า คำสั่งทางปกครองมีภารกิจและคุณสมบัติพิเศษดังนี้
1. เป็นภารกิจในทางกฎหมายปกครองสารบัญญัติ มีลักษณะที่เป็นรูปธรรม มีผลบังคับกับบุคคลเฉพาะราย ทำให้บุคคลที่ได้รับคำสั่งทางปกครองรับรู้สิทธิหน้าที่ในทางกฎหมายของตน หรือทำให้สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนและไม่แน่นอนในทางกฎหมาย มีความชัดเจนแน่นอน
2. เป็นภารกิจในทางกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีลักษณะเป็นกระบวนค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อนำข้อเท็จจริงนั้นมาประกอบการวินิจฉัยสั่งการ คำสั่งทางปกครองถือเป็นผลิตผลของกระบวนพิจารณาเรื่องทางปกครองในชั้นฝ่ายปกครอง เมื่อฝ่ายปกครองออกคำสั่งทางปกครองหรือปฏิเสธ หรือถือได้ว่ามีการปฏิเสธการออกคำสั่งทางปกครอง กระบวนพิจารณาเรื่องในทางปกครองย่อมสิ้นสุดลง
3. เป็นภารกิจในทางกฎหมายว่าด้วยการบังคับทางปกครอง กล่าวคือ เมื่อฝ่ายปกครอง ได้ออกคำสั่งทางปกครองแล้ว ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองนั้นเป็นคำสั่งที่จำเป็นต้องมีการบังคับการ เช่น คำสั่งให้รื้อถอนอาคาร คำสั่งให้ชำระค่าธรรมเนียม บุคคลที่ได้รับคำสั่งย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น หากบุคคลผู้ รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม ฝ่ายปกครองสามารถบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองนั้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำพิพากษาของศาล หรืออาจกล่าวได้ว่าคำสั่งทางปกครองนั้นเป็นฐานในการบังคับทางปกครองได้โดยตนเอง
4. เป็นภารกิจในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีปกครอง คือในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดจากการกระทำทางปกครองนั้น บุคคลผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายนั้นจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ผูกไว้กับความเป็นคำสั่งทางปกครอง กล่าวคือ จะต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครองนั้นในชั้นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาแล้ว จะนำคำสั่งทางปกครองนั้นมาฟ้องยังศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนเลยทีเดียวหาได้ไม่ เว้นแต่คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่ไม่สามารถอุทธรณ์โต้แย้งได้ หรือเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์โต้แย้งใน ชั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเสียก่อน
ที่มาข้อมูล http://www.sahanetilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=319898&Ntype=2
1. ท่านควรทำหนังสือเรียนไปที่ อธิบดีกรมสรรพากรเท่านั้น
2. ท่านควรบรรยายปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดจนครบถ้วนทุกเหตุการณ์ที่ต้องการถาม พร้อมแนบเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องไปพร้อมหนังสือข้อ หารืออย่างละเอียดด้วย
3. ท่านควรตั้งคำถามอย่างชัดเจนตามกฎหมายภาษี ในปัญหาที่ท่านถามไป เพราะหนังสือตอบข้อหารือส่วนมากตอบมาเป็นภาษาทางกฎหมายภาษีอากร โดยต้องอ้างประมวลรัษฎากร เสมอ ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นกฤษฎีกา คำสั่ง ต่างๆที่กรมสรรพพากรประกาศบังคับใช้นั้นก็ล้วนเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายประมวลรัษฎากรในการทำการทั้งสิ้น
4. ท่านควรเก็บสำเนา และหนังสือลงรับ หนังสือตอบข้อหารือไว้ป็นหลักฐานด้วย
หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรที่ได้ตอบให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทั่วไป มีลักษณะเป็นเพียงการให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเสียภาษีเท่านั้น
มิใช่เป็นการสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องเสียภาษีหรือได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษี และ
เมื่อหนังสือตอบข้อหารือมิใช่เป็นการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน
จึงไม่มีผลเป็นการผูกพันบุคคลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกรมสรรพากรเอง หรือฝ่ายผู้หารือที่ได้รับหนังสือตอบข้อหารือนั้นไป
อีกทั้งไม่เป็นการผูกพันให้ศาลจะต้องปฏิบัติตามเมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ฟ้องเป็นคดี จึงปรากฏเป็นข้อเท็จจริงอยู่เนืองๆ ว่าเมื่อเป็นคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลแล้ว หลายๆ คดีที่ผู้เสียภาษีได้ปฏิบัติตามหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรแล้ว แต่ศาลเองก็อาจพิพากษาเป็นอย่างอื่นได้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการตอบข้อหารือเป็นหนังสือของ กรมสรรพากรจึงมิใช่คำสั่งเด็ดขาดว่ากรณีใดจะต้องเสียภาษีหรือไม่แต่ประการใด
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ยอมรับทั้งหมดประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้