สำนักงานบัญชี รับทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี วางระบบบัญชี กรุงเทพ นนทบุรี โดย CPA : 091-830-3543|@beeaccountant
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด
โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป
สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องชำระและเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
1) บุคคลธรรมดา
2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
5) วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ยื่นแบบแสดงรายการ ปกติปีละ 1 ครั้ง เงินได้ ของปีใด ก็ยื่นแบบฯ ภายใน วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป
เว้นแต่ เงินได้ บางลักษณะ เช่น การให้เช่า ทรัพย์สิน เงินได้จาก วิชาชีพอิสระ เงินได้จาก การรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น
จะต้อง ยื่นแบบฯ ตอนกลางปี สำหรับเงินได้ ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายใน เดือนกันยายน ของทุกปี
ตามกฎหมาย เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรียกว่า “เงินได้พึงประเมิน” หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ หรือเงินได้ ที่เกิดขึ้นในปีภาษี ได้แก่
1. เงิน
2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง(เกณฑ์เงินสด)
3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหน
เนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพแตกต่างกัน มีความยากง่ายหรือต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความ เป็นธรรม ในกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้(พึงประเมิน) ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนด วิธีคำนวณภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนี้
1. เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น
– เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
– เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง
– เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
– เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
– เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น
2. เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
3. เงินได้ประเภทที่ 3ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
4. เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ เป็นต้น
5. เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจาก
– การให้เช่าทรัพย์สิน
– การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
– การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
6. เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
7. เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
8. เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว
1. ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือ ค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงาน ให้ได้จ่ายไปโดยสุจริต ตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมด ในการนั้น
– มีหลักฐานการเดินทาง หลักฐานค่าใช้จ่ายที่ถูกต้องสมบูรณ์ –
2. ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตรา ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง
3. เงินค่าเดินทางซึ่งนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมดโดยจำเป็น เพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างสิ้นสุดลงแล้ว
7. เบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้
8. ดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่ ดอกเบี้ยดังต่อไปนี้
(1) ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภท ฝากเผื่อเรียก
(2) ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์
(3) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภท ออมทรัพย์เฉพาะ กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดี ประกาศ(มาตรา 42(8))
(4) ดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศไทยและจากสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ในประเทศ เป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับแต่วันที่ฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากันแต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือนและรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท
9. การขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรือสังหาริมทรัพย์ ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร แต่ไม่รวมถึงเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไปหรือแพ
– เช่นกรรมการขายรถยนต์นั่งให้กับกิจการ –
10. เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา
13. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด เงินที่ได้จากการประกันภัยหรือการฌาปนกิจสงเคราะห์
21. เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม
22. เงินได้ของกองทุนรวม
27. เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาล สำหรับ
(1) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย
(2) ลูกจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว
ทั้งนี้ เงินจำนวนดังกล่าวได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
– กิจการระบุเป็นสวัสดิการ / ระเบียบพนักงาน ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมกันตามตำแหน่งหน้าที่งาน ไม่ถือเป็นรายได้พนักงาน กิจการนำเป็นค่าใช้จ่ายได้ –
53. เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในจำนวนคนละ ไม่เกินสองชุดต่อปีและเสื้อนอกในจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี
115.เงินได้เท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ
(ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
(ข) ลูกจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2549 เป็นต้นไป (กฎกระทรวง 263 พ.ศ.2550)
รายละเอียดเพิ่มเติม
การยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร การยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 การยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา
1. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และ 2 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากฎหมายให้หัก ค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา
2. เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดในประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 45) ให้คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็น เงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เท่านั้น การคำนวณตามเกณฑ์ในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร มีหลักเกณฑ์ดังนี้
3. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากฎหมายยอมให้หักค่า ใช้จ่ายได้เฉพาะเงินได้ที่เป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ โดยให้หักเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
4. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายไม่ยอมให้หัก ค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
5. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้ คือ (1) การให้เช่าทรัพย์สิน ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
ก. หักตามความจำเป็นและสมควรหรือ
ข. หักเป็นการเหมาในอัตราที่กำหนด
6. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายยอมให้เลือกหัก ค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
– ให้หักตามความจำเป็นและสมควรหรือ
– ให้หักเป็นการเหมาดังต่อไปนี้
– เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลป ให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 60
– เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระนอกจาก 1) หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30
7. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายยอมให้หักค่า ใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
– หักตามความจำเป็นและสมควร หรือ
– หักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 70
8. เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายยอมให้เลือกหัก ค่าใช้จ่ายวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
– หักตามความจำเป็นและสมควร หรือ
– หักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละตามที่กฎหมายกำหนด
รับทำบัญชีกิจการซื้อมาขายไป ปิดงบ ยื่นภาษี รับตรวจสอบบัญชี คุณภาพดีตรงต่อเวลา มีขั้นตอนการทำงานเป็นระบบระเบียบ เอกสารประกอบการรับทำบัญชี ชัดเจนกับผู้ปฎิบัติงาน และกิจการการที่เป็นลูกค้า รับสอบการทำบัญชี โดยโปรแกรม express ตัวอย่างหัวข้อการสอน Click
ขอข้อมูลเพิ่มเติมแบบ ภ.ง.ด.94 : แบบแสดงรายการเพื่อยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน เมื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 นี้แล้วเมื่อถึงปลายปีจะต้องคำนวณภาษีเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม และยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 อีกครั้ง โดยนำยอดภาษีที่ได้ชำระแล้วตามแบบ ภ.ง.ด.94 มาหักออก
ผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 : บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ตามมาตรา 40(5) – (8) ซึ่งได้แก่
มาตรา 40(5) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น
มาตรา 40(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม
มาตรา 40(7) เงินได้จากการรับเหมาที่ต้องจัดหาสัมภาระที่สำคัญนอกเหนือจากเครื่องมือ
มาตรา 40(8) เงินได้ที่นอกเหนือจากเงินได้มาตรา 40(1) – (7) เช่น รายได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม ขนส่งและการอื่น
การหักค่าใช้จ่าย : สามารถเลือกหักได้ 2 วิธี คือ
1.หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
2. หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา อัตราจะแตกต่างไปตามเงินได้ตามมาตรา 40(5) – (8) เช่น
มาตรา 40(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลป์หักค่าใช้จ่ายได้ ร้อยละ 60
ส่วนวิชาชีพอิสระอื่น เช่น ผู้ทำบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี CPA TA หักได้ ร้อยละ 30
การหักค่าลดหย่อน : สามารถหักได้ครึ่งหนึ่งตามสิทธิ์
เวลายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 : ภายในกันยายนของทุกปี
ความผิดหากไม่ยื่นแบบและชำระภาษี : โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และคิดเงินส่วนเพิ่ม 1.5% ของภาษีที่ค้างจ่ายเป็นรายเดือน
Inbox: 18 ตุลาคม พ.ษ. 2561 เวลา 10:39 น.
Pat Tip
เรียนสอบถามอาจาร์ยค่ะ สอบถามเรื่องสวัสดิการพนักงานค่ะ
บริษัทฯ ทำระเบียบเรื่องสวัสดิการไว้ ดังนี้
1. ค่าโทรศัพท์ และค่าน้ำมัน พนักงานฝ่ายขายและฝ่ายวิศวกร เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 1,500 โดยให้นำใบเสร็จมาเบิกจ่าย
2. บริษัท จัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี 1 ครั้ง จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 2,000 บาท โดยบริษัทฯ ให้พนักงานทุกคนไปตรวจเอง แล้วนำใบเสร็จ มาเบิก โดยใบเสร็จดังกล่าวจะออกมาในนามพนักงาน
ในแง่บริษัท ถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ไหม และเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีหรือเปล่า
ในแง่พนักงาน ทั้งข้อ 1 และ 2 ถือเป็นรายได้ ที่ได้รบการยกเว้นไหมค่ะ
ขอบคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีบริษัทฯ จัดทำระเบียบเรื่องสวัสดิการพนักงานไว้ ดังนี้
1. ค่าโทรศัพท์ และค่าน้ำมัน พนักงานฝ่ายขายและฝ่ายวิศวกร เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 1,500 โดยให้นำใบเสร็จมาเบิกจ่าย
2. บริษัทฯ จัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี 1 ครั้ง จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 2,000 บาท โดยบริษัทฯ ให้พนักงานทุกคนไปตรวจเอง แล้วนำใบเสร็จ มาเบิก ใบเสร็จดังกล่าวจะออกมาในนามพนักงาน
ในแง่บริษัทฯ รายจ่ายทั้งสองรายการดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประวลรัษฎากร
ในแง่พนักงาน ทั้งข้อ 1 และ 2 พนักงานได้รับยกเว้นเงินได้ ตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 59/2538
คุณ Kananita TK (25 กันยายน พ.ศ. 2561 เวลา 8:57 น.)
สวัสดีค่ะ อาจารย์
หนูมีเรื่องเรียนสอบถามเกี่ยวกับ การยื่นภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด.94 เนื่องจากรายได้ทั้งปีของหนูจะอยู่ในช่วงครึ่งปีแรก แต่การจ่ายเงิน บริษัทฯ จ่ายเงินหนู หลังมิถุนายน แต่ออกหนังสือหัก ณ ที่จ่าย เราเดือน พ.ค. ตามหลักเราควรยึดอะไรดีคะ เพราะหากคำนวณเป็นรายปีแล้ว รายได้หนูอาจไม่ต้องเสียภาษีหรือ เสียภาษีน้อยก็ได้ค่ะ
ขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าค่ะ 🙏🏻
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
โดยปกติทั่วไป ย่อมต้องเชื่อตามหลักฐานเอกสาร เมื่อถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งในเดือนพฤษภาคม ก็ย่อมต้องถือว่า ได้รับเงินได้ในเดือนพฤษภาคม เว้นแต่จะพิสูจน์ให้ได้ความชัดแจ้งว่า ได้รับเงินได้หลังจากเดือนมิถุนายน ซึ่งก็จะเป็นความผิดของผู้จ่ายเงินได้ที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไว้ผิดเดือน จึงต้องตกลงกับผู้จ่ายให้ชัดเจนว่า จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กันในวันที่จ่ายเงินได้จริง
ประกอบกิจการรับจ้างถ่ายเอกสาร ในปัจจุบันที่วิทยาการและเทคโนโลยีก้าวหน้าไป นั้น เข้ามาแทนที่กิจการโรงพิมพ์ได้เป็นอย่างดี พิมพ์ซ้ำได้ผลงานเหมือนหรือเกือบเหมือนกับต้นฉบับ เข้าลักษณะเป็น “รับพิมพ์ หรือเย็บสมุด เอกสาร รวมทั้งการขายส่วนประกอบ” ตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกัมมาตรา 8 (16) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2509 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป)
ไม่อาจมองได้ว่า เป็นกิจการถ่าย ล้าง อัด หรือขยายรูป ภาพยนตร์ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ ตามตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกัมมาตรา 8 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2509 ได้เลย เพราะแตกต่างกันทั้งเครืื่่องมือ วัสดุอุปกรณ์ วิธีการปฏิบัติงาน และผลลัพธ์ที่ได้
กรณีบุคคลธรรมดาประกอบกิจการรับจ้างถ่ายเอกสารให้แก่บุคคลทั่วไป และบริษัท โดยมีการทำเป็นสัญญา มีภาระภาษี ดังนี้
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
….เงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ในส่วนที่เป็น “รับพิมพ์ หรือเย็บสมุด เอกสาร รวมทั้งการขายส่วนประกอบ” ตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกัมมาตรา 8 (16) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2509 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป)
หากมีเงินได้เกิน 60,000 บาท ต่อปี มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
และยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ภายในเดือนกันยายนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
และหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตรา 60% ของเงินได้ หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร โดยนำมาตรา 65 ทวิ และ มาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502
2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
….(1) ผู้จ่ายเป็นนิติบุคคลจ่ายเงินตามสัญญาดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของที่มุ่งผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ
….(2) ผู้จ่ายเป็นบุคคลธรรมดา จ่ายเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าวไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพราะไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
….การให้บริการรับจ้างถ่ายเอกสารถือเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้ประกอบการมีเงินได้เกิน 1,800,000 บาท ต่อปี มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายไ้ดเกินกว่ามูลค่าฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม (ตั้งแต่รายได้ในส่วน 1,800,001 บาทขึ้นไป) ตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร
4. อากรแสตมป์
….สัญญารับจ้างถ่ายเอกสารเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามลักษณะตราสาร 4.แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ต้องเสียอากรแสตมป์ในอัตรา ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท ของค่าจ้างที่กำหนดไว้ เสียอากร 1 บาท โดยผู้รับจ้างเป็นผู้มีหน้าที่เสียอากรและขีดฆ่าอากรแสตมป์
คุณ Apichart Mejit (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561)
เรียน ท่านอาจารย์ สุเทพ
ทางบริษัทฯ ต้องการว่าจ้างวิศวกรเป็นพนักงานประจำ ซึ่งต้องหักตามมาตรา 40 (1) แต่ทางวิศวกรได้แจ้งว่าจะขอให้หักตาม ม 40 (6) เพราะทำงานหลายที่ มีรายได้สูง แต่ทางบัญชีแย้งว่า ต้องหักแบบ ม 40 (1) แต่ท้ายสุดทางบัญชีก็ต้องทำตามคำสั่งผู้บริหารให้หักตามแบบที่วิศวกรต้องการ (ไม่งั้นก็รับ พนง บัญชีใหม่)
จึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า หากโดนตรวจ ทางบริษัทฯ จะโดนปรับหรือไม่หากว่า คำนวณแล้ว ภาษีที่คำนวณตาม มาตรา 40 (6) น้อยกว่าตาม มาตรา 40 (1) หรือ วิศวกรเป็นผู้โดนประเมินเอง เพราะบัญชีคงหักตาม ค่าวิชาชีพ ไปครับ
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ
บัญชี
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีบริษัทฯ ต้องการว่าจ้างวิศวกรให้มาทำงานกับบริษัทฯ โดยวิศวกรได้แจ้งว่า ขอให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในฐานะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะทำงานหลายที่ และมีรายได้สูง นั้น
เกณฑ์การพิจารณาว่า เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้วิศวกรท่านนั้นเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินนามมาตรา 40 (1) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น
พิจารณาตามข้อเท็จจริงในการว่าจ้างที่ได้ตกลงกันระหว่าง บริษัทฯ กับวิศวกร
1. หากวิศวกรปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างพนักงานทั่วไป โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ไม่ว่าจะมีผลการปฏิบัติงานหรือไม่ก็ตาม ต้องปฏิบัติงานภายใต้กฎระเบียบการจ้างแรงงาน และมีสิทธิได้รับสวัสดิการเช่นเดียวกับพนักงานประจำทั่วไป ค่าจ้างที่จ่ายเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
2. หากวิศวกรปฏิบัติงานในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม โดยปฏิบัติงานเป็น job มีอิสระในการปฏิบัติงาน ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบการปฏิบัติงานของบริษัทฯ บริษัทฯ จ่ายค่าสินจ้างตามผลสำเร็จของงาน เช่นนี้ สินจ้างที่จ่ายเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร หากมีสัญญาจ้างระหว่างกัน วิศวกรมีหน้าที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามลักษณะตราสาร 4 แห่งบัญชีอัตาอากรแสตมป์
จึงขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นแต่ละกรณีไป
คุณ Orapin Keawmukda (14 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 6:33 น.)
อาจารย์คะ ในกรณีเงินรางวัลเป็นเงินได้พึงประเมิน 40(8) หรือเปล่าคะเมื่อนำมารวมเพื่อคำนวณภาษีมีค่าใช้จ่ายตามกฎหมายไหมคะ ขอบคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
เงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัลไม่ใช่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เสมอไป ต้องได้รายละเอียดข้อเท็จจริง ประกอบการมีรายได้ ดังเช่นกรณีตัวอย่างต่อไปนี้
– ในเบื้องต้น ก็จริงอยู่เมื่อกล่างถึงคำว่า “รางวัล” เราท่านทั้งหลายย่อมนึกถึง รางวัลจากการประกวด แข่งขัน และชิงโชค ที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ
– กรณีรางวัลจากการส่งเสริมการขาย ที่ดีลเลอร์หรือผู้จัดจำหน่ายได้รับจาก Supplier ก็ข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ดัวยเช่นกัน
– กรณีลูกจ้างพนักงาน ได้รับรางวัลจากนายจ้าง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการจับสลาก หรือด้วยวิธีการอื่น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากแรงงาน เหตุที่ลูกจ้างพนักงานได้รับรางวัลเกิดจากการเป็นลูกจ้างพนักงาน หรือ
– กรณีพนักงานขายอิสระ ซึ่งรับเงินค่านายหน้าจากผู้ว่าจ้าง ได้รับรางวัลพิเศษจากผู้ว่าจ้าง หรือตัวแทนนายหน้าได้รับรางวัลจากตัวการ รางวัลที่ได้รับย่อมถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ
– กรณีผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับโบนัสจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
ฯลฯ
คุณ Proserm Simcard (เสารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 10:19 น.)
สวัสดีครับอาจารย์
ผมได้ขายโปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตซิมการ์ดมือถือ ผ่านออนไลน์ของค่ายซิม แห่งหนึ่ง ซึ่งผมได้รับเงินค่าตอบแทน ประมาณเดือนละไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท (มากน้อยอยู่ที่ผลงาน แต่ไม่ใช่เงินเดือนครับ) ซึ่งทางบริษัทซิม ออกเป็น มาตรา 40 (8) ส่งเสริมการขาย
ถามว่า ผมต้องจด มูลค่าเพิ่ม VAT เมื่อถึง 1.8 ล้านไหมครับ
ผมเป็นบุคคลธรรมดา
ขอบคุณครับ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรณีผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาได้ขายโปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตซิมการ์ดมือถือ ผ่านออนไลน์ของค่ายซิม แห่งหนึ่ง โดยได้รับเงินค่าตอบแทน ประมาณเดือนละไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท (มากน้อยอยู่ที่ผลงาน แต่ไม่ใช่เงินเดือนครับ) ซึ่งทางบริษัทซิม ออกเป็น มาตรา 40 (8) ส่งเสริมการขาย จึงขอถามว่า เมื่อมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ นั้น
ขอเรียนว่า การประกอบกิจการเป็นนายหน้าตัวแทนขายขายโปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตซิมการ์ดมือถือ ผ่านออนไลน์ของค่ายซิม แห่งหนึ่ง โดยได้รับเงินค่าตอบแทน ดังกล่าว ซึ่งไม่ต้องรับรู้เงินได้จากการขายโปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตซิมการ์ดมือถือ ผ่านออนไลน์
เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการเป็นนายหน้าตัวแทน ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีรายได้จากการให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปั โดยถือเป็นผู้ประกอบการจากการให้บริการ
การที่จะถือเป็นรางวัลส่งเสริมการขายที่ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545 ได้นั้น ผู้ประกอบการต้องเป็นตัวแทนจำหน่าย (Dealer) ขายโปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตซิมการ์ดมือถือ ผ่านออนไลน์ โดยต้องรับรู้รายได้จากการขายโปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตซิมการ์ดมือถือ ผ่านออนไลน์ เป็นรายได้ แล้วจึงได้รับรางวัลส่งเสริมการขาย ซึ่งหากรายได้จากการขายโปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตซิมการ์ดมือถือ ผ่านออนไลน์ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยถือเป็นผู้ประกอบการขายสินค้า
คุณ Waraporn Prungsingh (อังคารที่ 20 มีนาคม 2561 เวลา 1:58 น.)
รบกวนอาจารย์ค่ะ
พยาบาลวิชาชีพทำงานประจำโรงพยาบาลรัฐบาล เงินได้คือ 40 (1) ถูกต้องไหมคะ
แต่พยาบาลวิชาชีพคนเดิม ทำงานนอกเวลาราชการ โดยการไปอยู่เวรที่โรงพยาบาลเอกชน ได้รับค่าตอบแทนแต่ละเดือนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนเวรที่ไป รายได้คือ 40 (2)/ 40 (1) ถูกต้องไหมคะ
และพยาบาลคนเดิม อยู่เวรห้องพยาบาลที่โรงงานด้วย ได้ค่าตอบแทนตามจำนวนเวรที่ไป แต่โรงงานนี้ออกใบภาษีมาเป็น 40 (6) อันนี้จะสอบถามค่ะ ว่าใช้ยื่นเป็น 40 (6) ได้หรือไม่คะ ค่าวิชาชีพอิสระ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติ ในการแยกพิจารณาเงินได้ของพยาบาลตามแนวคำตอบข้อหารือต่อไปนี้
เลขที่หนังสือ : กค 0811(กม)/1435
วันที่ : 7 สิงหาคม 2541
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีโรงพยาบาลจ้างบุคลากรจากที่อื่นมาทำงานนอกเวลา
ข้อกฎหมาย : มาตรา40 (1), มาตรา40 (2), มาตรา40 (6)
เลขที่หนังสือ : กค 0811/9967
วันที่ : 17 ตุลาคม 2544
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการประกอบอาชีพพยาบาล
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(2)
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. กรณีพยาบาลวิชาชีพทำงานประจำโรงพยาบาลรัฐบาล เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษากร ถูกต้องแล้วครับ
2. กรณีพยาบาลวิชาชีพคนเดิม ทำงานนอกเวลาราชการ โดยการไปอยู่เวรที่โรงพยาบาลเอกชน ได้รับค่าตอบแทนแต่ละเดือนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนเวรที่ไป หากข้อเท็จจริงของสัญญาจ้างสรุปได้ว่า ผู้รับจ้าง รับจ้างรักษาพยาบาลลูกค้า ลูกจ้างและพนักงานของ บริษัทฯ ผู้ว่าจ้าง และ ผู้ว่าจ้างตกลงที่จะจ่ายค่าตอบแทนเพื่อผลสำเร็จของงาน โดยคำนวณจากการปฏิบัติงานตามจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานที่บริษัทฯ ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้ ดังนั้น เงินได้ที่ผู้รับจ้างได้รับตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำงานให้เป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
3. พยาบาลคนเดิม อยู่เวรห้องพยาบาลที่โรงงานด้วย ได้ค่าตอบแทนตามจำนวนเวรที่ไป หากของสัญญาจ้างสรุปได้ว่า ผู้รับจ้าง รับจ้างรักษาพยาบาลลูกค้า ลูกจ้างและพนักงานของ บริษัทฯ ผู้ว่าจ้าง และ ผู้ว่าจ้างตกลงที่จะจ่ายค่าตอบแทนเพื่อผลสำเร็จของงาน โดยคำนวณจากการปฏิบัติงานตามจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานที่บริษัทฯ ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้ ดังนั้น เงินได้ที่ผู้รับจ้างได้รับตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำงานให้เป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร การที่โรงงานออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแสดงว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร จึงยังไม่ถูกต้อง
คุณ Yindee Sudaratat (7 เมษายน พ.ศ. 2561 เวลา 19:57 น.)
รบกวนสอบถามอาจารย์ ดังนี้
1. บุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนขายประกันชีวิต จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นรายได้ตามมาตรา 40 (8) ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์นั่ง เช่น น้ำมัน ค่าประกันรถยนต์ ค่าซ่อมแซม ค่าใช้จ่ายดังกล่าวสามารถนำมาเป็นภาษีซื้อได้ไหมค่ะ
2. ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าให้ลูกค้าเนื่องในโอกาสต่างๆ เช่นเยี่ยมลูกค้าในกรณีเข้าโรงพยาบาล คลอดลูก ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้านำมาเป็นภาษีซื้อได้ไหม
3. ค่าใช้จ่ายจากข้อ 1 และ 2 ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการหรือไม่
ขอบคุณค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
1. กรณีบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนบริษัทประกันชีวิต จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การที่จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์นั่ง เช่น น้ำมัน ค่าประกันรถยนต์ ค่าซ่อมแซม ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่สามารถนำมาเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเป้นภาษีซื่อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าให้ลูกค้าเนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น เยี่ยมลูกค้าในกรณีเข้าโรงพยาบาล คลอดลูก ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า ไม่สามารถนำมาเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื่อสำหรับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือค่ารับรอง
3. ค่าใช้จ่ายจากข้อ 1 ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการได้รวมทั้งค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนรายจ่ายตาม 2 ในส่วนของค่ารับรอง ก็ให้นำมาถือเป็นรายจ่ายได้ ตามจำนวนทีจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 0.3% ของเงินได้พึงประเมิน
คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. 59/2538
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งแนะนำผู้จ่ายเงินได้และผู้มีเงินได้ สำหรับค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่นอกสำนักงานหรือนอกสถานที่เป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ลูกจ้างหรือผู้มีหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ ได้รับเนื่องจากการเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ในประเทศหรือต่างประเทศเป็นครั้งคราว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเข้าลักษณะดังนี้
(1) ต้องเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
(2) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ในประเทศหรือต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น โดยไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์
(3) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงตาม (2) และบุคคลดังกล่าวไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลนั้นได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราตาม (2)
ข้อ 2 การเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามข้อ 1 ต้องมีหลักฐานการได้รับอนุมัติให้เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสำนักงานหรือนอกสถานที่จากนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้ โดยต้องระบุลักษณะงานที่ทำและระยะเวลาในการปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้วแต่กรณีด้วย
การค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ รับทำบัญชี บุคคลธรรมดา รับ ทำ บัญชียื่นภาษี รับจ้างยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รับยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริการรับทำบัญชี รับทำบัญชีอิสระ รับยื่นภาษีบุคคลธรรมดา รับ ยื่น ภ งด 90 รับทำบัญชี pantip รับทำบัญชี รับทำบัญชีอิสระ รับทำบัญชี pantip รับ ทำ บัญชี ที่ บ้าน รับทำบัญชี กรุงเทพ อยากรับทำบัญชี รับ ทำ บัญชียื่นภาษี รับทำบัญชี นนทบุรี รับทำบัญชี ราคาถูก
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ยอมรับทั้งหมดประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้