Skip to content

บัญชี ภาษี กิจการนำเข้าส่งออก # Export Import

บัญชี ภาษี กิจการนำเข้าส่งออก นั้น ลูกค้าของสำนักงานบัญชีส่วนมาก จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับ จุดรับรู้รายได้ หรือการ จ่ายค่าใช้จ่าย ว่าเป็นการนำเข้าหรือไม่ เช่น การสั่งซื้อนอกไทย ไม่มีสินค้าเข้าไปไทย หลังผลิตเสร็จส่งให้ลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ หรือ การจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ โดยไม่ได้มีการใช้บริการในประเทศ ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่  หรือ ปัญหาว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มควรคิดที่ 7% หรือ 0%  และต้องลงรายงานภาษีซื้อ ภาษีขายหรือไม่ การยื่น ภพ 30 ภพ 36 ต้องยื่นแบบใด กรอกในช่องไหนบ้าง

ดังนั้น ทางสำนักงานได้ให้บริการรับทำบัญชี ดูแล บัญชี ภาษี กิจการ ส่งออก นำเข้า จึงขอรวบรวม ประเด็นปัญหาของกิจการ ที่มี่ข้อหารือรองรับการแก้ไขปัญหา ทั้งการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย มาไว้ในบทความนี้ โดยจะแยกเป็น กิจการซื้อมาขายไป  กิจการผลิต และกิจการบริการ

หัวข้อนี้ จะกล่าวถึง บัญชี ภาษี กิจการนำเข้าส่งออก โดยผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ

บัญชี ภาษี กิจการนำเข้าส่งออก

เรียนรู้บัญชี ภาษี พื้นฐานสำหรับเจ้าของกิจการ ซื้อมาขายไปและบริการ

สรุปพื้นฐานบัญชีภาษี เบื้องต้ง การกรอกแบบ ภงด 1/3/53 ภงด 1 ก แบบ ภพ 30 36 ความเสี่ยงการตรวจสอบกิจการเบื้องต้น ถึงกิจการท่าน

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป 97/2543 การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ 13
  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศโดยว่าจ้างผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศให้จัดส่งสินค้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากรจะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

                        (1) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ซื้อในต่างประเทศซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนจริง เช่น Proforma Invoice หรือ Purchase Order หรือ Order Note หรือเอกสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

                        (2) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ว่าจ้างผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศให้จัดส่งสินค้าไปต่างประเทศ

                        (3) หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศได้รับสินค้าที่จะดำเนินการส่งออกจากผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยเอกสารดังกล่าวต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                                       (ก) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ

                                       (ข) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อในต่างประเทศ

                                       (ค) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า

                                       (ง) วัน เดือน ปี ที่ออกเอกสาร

                        (4) หลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศที่ผ่านพิธีการศุลกากรฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่ามีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร

                        (5) หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) หรือเอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือ Bank Statement เป็นต้นเว้นแต่กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งสินค้าไปเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยไม่มีค่าตอบแทน ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานแสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice)

ข้อหารือภาษีอากร บัญชี ภาษี กิจการนำเข้าส่งออก - UPS FedEx

กค 0706/4610 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ และขายสินค้าโดยไม่ผ่านประเทศไทย

 บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ นำเข้าและส่งออก ผลิต ขายส่ง ขายปลีก และให้บริการติดตั้งเครื่องฉาย เครื่องเสียงภาพยนตร์

ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้ามาขายให้กับลูกค้าในประเทศ ซื้อสินค้าในประเทศและส่งออก ไปต่างประเทศ และซื้อสินค้าในต่างประเทศขายไปยังอีกประเทศหนึ่งโดยไม่ได้นำสินค้าดังกล่าวเข้ามา ในราชอาณาจักร บริษัทฯ หารือว่า

1. บริษัทฯ ซื้อสินค้าในประเทศและส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากร

1.1 การยื่นแบบ ภ.พ.30 ถือเป็นยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ใช่หรือไม่

1.2 การรับรู้รายได้จะรับรู้เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้วใช่หรือไม่

2. บริษัทฯ ซื้อสินค้าจากต่างประเทศและส่งสินค้าไปให้ลูกค้าอีกประเทศหนึ่งโดยไม่ได้นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทย โดยลูกค้าจะเปิด L/C มาให้บริษัทฯ ในประเทศไทย

2.1 การยื่นแบบ ภ.พ.30 จะต้องแสดงยอดขายนี้หรือไม่ และต้องลง รายงานสินค้าและวัตถุดิบหรือไม่ อย่างไร

2.2 การรับรู้รายได้ตามวันที่บริษัทฯ ออก invoice ของบริษัทฯ ใช่หรือไม่

3. บริษัทฯ ต้องเฉลี่ยภาษีซื้ออย่างไร เมื่อมีการขายสินค้านอกประเทศและขายสินค้าใน ประเทศด้วย

4. บริษัทฯ ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนใดในการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคลในการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ซื้อสินค้าในประเทศและส่งออกโดยผ่านพิธีการศุลกากรบริษัทฯ ได้
รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยแสดงใน แบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เป็นยอดขายที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และ

กรณีบริษัทฯ รับรู้ รายได้ตามยอดขายในใบขนสินค้าขาออกถือเป็นการรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิซึ่งราคาสินค้าในใบขนสินค้า ขาออกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นราคาสินค้าที่ได้มีการขายหรือส่งออกในขณะนั้น อันเป็นราคาที่เหมาะสมใน ขณะนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวนรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528

2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ซื้อสินค้าจากต่างประเทศและส่งไปให้ลูกค้าในต่างประเทศโดย
ไม่ได้นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทย การขายสินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้านอก
ราชอาณาจักร

ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร การยื่น แบบแสดงรายการ ภ.พ.30

บริษัทฯ ไม่ต้องแสดงยอดขายดังกล่าวในแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 และ บริษัทฯ ไม่ต้องนำสินค้าดังกล่าวมาลงรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

สำหรับการรับรู้รายได้จากการขายสินค้า ดังกล่าวบริษัทฯ จะต้องรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิเมื่อบริษัทฯ ออก Invoice ของบริษัทฯ

3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตาม มาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 153)ฯ ลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2546

4. กรณีตาม 4. การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องใช้
อตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 65 ทวิ(5) แห่งประมวลรัษฎากร

กค 0706/1802 ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าในต่างประเทศ สินค้าไม่เข้าไทย

สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ไม่มีการนำสินค้าเข้ามายังราชอาณาจักร แต่มีการโอนเงินรายได้เข้าประเทศ และ โอนคืนค่าต้นทุนสินค้าไปยังต่างประเทศ

สรุป : รับรู้รายได้จากยอดขายจากยอด invoice ขายนอกไทย / ไม่ต้องนำส่ง VAT + ไม่ต้องแสดงยอดในภพ 30 + ไม่ต้องนำยอดมาลงรายงานขาย+ ไม่ต้องจัดทำสต๊อคสินค้าและวัตถุดิบ

เป็นกรณีขายไม่เข้าเงื่อนไงการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม  แต่มีจุดที่ต้องระวังคือ กิจการอาจต้องเฉลี่ยภาษีซื้อ เพราะมีการประกอบกิจการในระบบและไม่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ด้วยกัน

กค 0706/1802 ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายสินค้าในต่างประเทศ

ข้อหารือ

บริษัท ล. จำกัด ประกอบกิจการผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา บางครั้งบริษัทฯ ผลิตสินค้าไม่ทันหรือมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ บริษัทฯ จะสั่งผลิตสินค้าดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยลูกค้าที่ยุโรปจะเปิด L/C มาที่บริษัทฯ ผ่านธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย และบริษัทฯ จะเปิด L/C สั่งสินค้าไปที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่บริษัทฯ มีวงเงินกับธนาคารฯ ซึ่งเรียกว่า L/C Transfer

เมื่อผู้ขายที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนผลิตสินค้าเสร็จก็จะส่งสินค้าไปยุโรปโดยตรงโดยไม่ผ่านประเทศไทย บริษัทฯ จะออก Invoice เรียกเก็บค่าสินค้าจากลูกค้าที่ยุโรปตาม L/C ที่ลูกค้าสั่งซื้อ และผู้ขายที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจะออก Invoice เรียกเก็บค่าสินค้าจากบริษัทฯ

เมื่อลูกค้าโอนเงินชำระค่าสินค้าโดยผ่านธนาคารฯ ธนาคารฯ จะดำเนินการโอนเงินต่อไปชำระค่าสินค้าที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วออกใบรับเงินให้เฉพาะส่วนต่างและนำเงินเข้าบัญชีบริษัทฯ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

          1. บริษัทฯ ต้องลงบัญชีรับรู้รายได้ตาม Invoice ที่บริษัทฯ เรียกเก็บค่าสินค้าจากลูกค้าในทวีปยุโรป และลงบัญชีชำระค่าสินค้าตาม Invoice ที่ผู้ขายในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเรียกเก็บ หรือลงบัญชีรับรู้รายได้เฉพาะส่วนต่างเป็นค่านายหน้าเท่านั้น

          2. หากบริษัทฯ ต้องลงบัญชีเป็นค่านายหน้าเฉพาะยอดส่วนต่าง บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ถูกต้องหรือไม่ และบริษัทฯ ต้องจัดทำรายงานภาษีขาย และแสดงยอดขายในแบบ ภ.พ. 30 หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          1. กรณีการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องรับรู้รายได้จากการขายสินค้าตามเกณฑ์สิทธิเมื่อบริษัทฯ ออก Invoice แจ้งราคาสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และให้บันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วไป

          2. กรณีบริษัทฯ ซื้อสินค้าในต่างประเทศและขายสินค้านั้น ส่งมอบให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศโดยไม่ได้นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทยตามข้อเท็จจริงข้างต้น

การขายสินค้าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้านอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

บริษัทฯ จึงไม่ต้องแสดงยอดขายดังกล่าวในแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 และไม่ต้องนำสินค้าในกรณีนี้มาลงรายการในรายงานภาษีขายแต่อย่างใด

กค 0706/พ./549 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศ

ข้อหารือ

 บริษัท ม. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการผลิตสินค้าผลไม้กระป๋อง  และเครื่องดื่มขายในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศ

กรณีการขายสินค้าโดยการส่งออกไป ต่างประเทศ บริษัทฯ และลูกค้าในต่างประเทศ จะตกลงใช้ราคาขายสินค้าที่ส่งออกตามราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าโดยคำนวณจากราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่ง

เนื่องจากบริษัทฯ ต้องเป็นผู้ทำประกันภัยพร้อมกับว่าจ้างบริษัทอื่นเป็นผู้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว ในการคำนวณราคาสินค้า สำหรับการยื่นแบบ ภ.พ.30 การลงรายงานภาษีขายและการลงรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

บริษัทฯ ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ที่บริษัทฯ ตกลงกับลูกค้าในต่างประเทศมาเป็นฐานในการคำนวณภาษี แต่ ในใบขนสินค้าขาออกของกรมศุลกากรใช้ราคา เอฟ.โอ.บี.

บริษัทฯ จึงหารือว่า

1. บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จากราคาสินค้าบวกค่าประกันภัยและค่าขนส่งหรือไม่

2. กรณีบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เฉพาะค่าประกันภัยและ ค่าขนส่ง บริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้าในต่างประเทศจากค่าประกันภัยและค่าขนส่งหรือไม่


หากเรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้าในต่างประเทศไม่ได้ จะถือว่าบริษัทฯ ยื่นภาษีขายไว้ขาดหรือไม่  และ ภาษีซื้อของค่าประกันภัยและค่าขนส่ง บริษัทฯ จะถือเป็นภาษีซื้อที่จะนำไปคำนวณหักภาษีขายได้หรือไม่

 

 

แนววินิจฉัย

 

 

1. กรณีบริษัทฯ ตกลงขายสินค้าที่ส่งออกในราคา ซี.ไอ.เอฟ. ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการส่งออกสินค้าซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่ง ประมวลรัษฎากรนั้น ฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว บริษัทฯ ต้องใช้มูลค่าของสินค้าส่งออก  ตามราคา เอฟ.โอ.บี. ของสินค้าบวกด้วยภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) แห่ง  ประมวลรัษฎากร และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่ได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ ไม่ให้รวม อากรขาออก

ซึ่ง ราคา เอฟ.โอ.บี. ได้แก่ ราคาสินค้า ณ ด่านศุลกากรส่งออกโดยไม่รวมค่าประกันภัย และค่าขนส่งจากด่านศุลกากรส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ตามมาตรา 79/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำค่าประกันภัยและค่าขนส่งมารวมคำนวณเป็นฐานภาษี ในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออกสินค้า


2. ภาษีซื้ออันเกิดจากค่าประกันภัยและค่าขนส่งสินค้าจากด่านศุลกากรออกไปต่างประเทศที่
บริษัทฯ เป็นผู้จ่ายไปเนื่องจากการส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศ เป็นภาษีซื้ออันเกิดจากการรับบริการ มาเพื่อใช้ในกิจการที่เกี่ยวกับการขายสินค้าโดยการส่งออกให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศซึ่งได้รับสิทธิเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0

 

ค่าขนส่งและค่าประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นบริการที่นำไปใช้ในกิจการที่ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่กฎหมายกำหนดให้ค่าบริการดังกล่าว ไม่ต้องนำมูลค่าของค่าบริการ มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79/1(1) แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น

ดังนั้น หาก ภาษีซื้อดังกล่าวเป็นภาษีซื้อที่ไม่ต้องห้ามไม่ให้นำไปหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/5 แห่ง ประมวลรัษฎากรแล้ว ย่อมนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

กค 0706/พ./6981 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยว่าจ้างผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศจัดส่งสินค้าให้

ข้อหารือ

1. บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 สถานประกอบการตั้งอยู่ เลขที่ กรุงเทพฯ ไม่มีสาขา ประกอบกิจการส่งออกอัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนไปต่างประเทศโดย ว่าจ้างผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ จัดส่งสินค้าให้โดยมีขั้นตอนและรายละเอียดในการ ส่งออกดังนี้


     1.1 เมื่อบริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ บริษัทฯ จะติดต่อว่าจ้างให้ ผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศเป็นผู้จัดส่งสินค้าให้
         

        โดยบริษัทฯ จะจัดทำหลักฐาน ใบกำกับสินค้า (INVOICE) จำนวน 1 ชุด 5 ฉบับ และใบตราส่งสินค้า (AIR WAYBILL)จำนวน 1 ชุด 3 ฉบับ มอบให้กับผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ พร้อมกับสินค้าที่จะส่งออกตามรายการ  ในใบกำกับสินค้า


         จากนั้นเมื่อผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ ตรวจสอบความถูกต้องแล้วจะ ลงลายมือชื่อและคืนใบกำกับสินค้า (INVOICE) และใบตราส่งสินค้า (AIR WAYBILL) คืนให้บริษัทฯ อย่างละ 1 ฉบับ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

1.2 เมื่อผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ ได้ดำเนินการส่งออกสินค้าให้กับ  บริษัทฯ แล้ว ก็จะออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าขนส่ง (ค่าระวาง), ค่าเคลียร์ สินค้า, ค่าอากรและค่าภาษี และเมื่อบริษัทฯ ชำระเงินตามใบแจ้งหนี้แล้ว ผู้ประกอบการรับขนส่ง พัสดุภัณฑ์ทางอากาศจึงจะออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินให้กับบริษัทฯ ต่อไป


1.3 ในกรณีที่บริษัทฯ ให้ผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศดำเนินพิธีการศุลกากร และส่งสินค้าเฉพาะของบริษัทฯ ไม่รวมไปกับสินค้าของลูกค้ารายอื่น ใบขนสินค้าขาออกจะออกในนามของ บริษัทฯ


1.4 ในกรณีที่บริษัทฯ ให้ผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ จัดส่งสินค้ารวมไปกับ ลูกค้ารายอื่นๆ กรณีนี้ ผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศจะดำเนินพิธีการศุลกากรในนามของตนเอง

     บริษัทฯ จะไม่ได้สำเนาใบขนสินค้าขาออกจากผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ


     ซึ่งแม้ บริษัทฯ ได้ขอสำเนาใบขนสินค้าขาออก จากผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศแล้ว แต่ได้รับการ ปฏิเสธโดยแจ้งเหตุผลว่า ใบขนสินค้าขาออกดังกล่าวเป็นเอกสารของผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ ทางอากาศไม่อาจสำเนาให้บุคคลอื่นใดได้


จากขั้นตอนและรายละเอียดข้อเท็จจริงในการส่งออกดังกล่าว บริษัทฯ เห็นว่าเป็นการ ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศตามประมวลรัษฎากรแล้ว จึงยื่นยอดขายไว้ตามแบบ ภ.พ.30 สำหรับ เดือนภาษีที่มีการส่งออกโดยถือเป็นยอดขายส่งออกที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตลอดมา 

 

แนววินิจฉัย

กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศโดยว่าจ้างให้ผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ ทางอากาศจัดส่งสินค้ารวมไปกับลูกค้ารายอื่น ๆ

แต่บริษัทฯ ไม่มีหลักฐานสำเนาใบขนสินค้าขาออกในนาม  ของผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศฉบับที่มีการสลักหลังการตรวจปล่อยสินค้าโดย เจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้น

หากบริษัทฯ มีเอกสารยืนยันการส่งออกสินค้าที่ผู้ประกอบการรับขนส่งพัสดุภัณฑ์ ทางอากาศได้จัดทำขึ้นเองเป็นหลักฐานแทนใบขนสินค้าขาออก ซึ่งหากเอกสารดังกล่าวมีข้อความแสดงว่า มีการตรวจปล่อยสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร

บริษัทฯ ก็จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ตาม ข้อ 13 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.97/2543 ฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่นกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด
สำนักงานใหญ่ TAX ID 0105561120432

Contact us

Post Views: 13,369

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า