Skip to content

สรุปความรู้เบื้องต้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม

สรุปความรู้เบื้องต้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการทุกประเภท ทั้งธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจผลิต ธุรกิจบริการ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) คือ ภาษี ประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บจากมูลค่าของการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการในประเทศ และการนำเข้าสินค้าโดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ ปัจจุบันเราจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในอัตราคงที่ 7% (ซึ่งคำนวณมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% + ภาษีท้องถิ่น 0.7%)

ภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการต่างๆ ที่เป็นคนสุดท้าย รวมถึงการเก็บภาษีทุกขั้นตอนของการผลิตหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการ จากนั้นผู้ประกอบการจะนำภาษีที่เก็บได้ส่งให้กับสรรพากรทุกเดือน

สรุป 

              ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อสินค้าทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศหรือเป็นผู้ได้รับบริการคนสุดท้าย  
              ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ผู้บริโภคคนสุดท้ายจะจ่ายภาษีซื้อ 7% ในตอนซื้อสินค้า  และเรียกเก็บภาษีขาย 7% ในตอนขายสินค้า
               เมื่อสิ้นเดือน กิจการจะต้องรวบรวม ภาษีซื้อ ที่เกิดจากรายได้ในการขายและบริการ และภาษีขาย ที่เกิดจากซื้อสินค้า ค่าใช้จ่ายต่างๆ มาหักลบกัน  ผลต่าง หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายจะเป็น ลูกหนี้-สรรพากร  สามารถขอคืนเงินสด หรือ นำไปใช้ในเดือนถัดไป หรือ  ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ  จะเป็น  เจ้าหนี้-สรรพากร ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป (ยื่น online  ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป)

 
 
 
สรุปความรู้เบื้องต้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม
รับสอนทำบัญชี สินทรัพย์ถาวร โปรแกรมบัญชี Express เบื้องต้น

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลใด ๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ

ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถขอเข้าสู่ระบบ VAT ได้

       1.  การขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ี

       2.   การขายพืชผลทางการเกษตรภายในราชอาณาจักร เช่น ข้าว ข้าวโพด ปอ มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ เป็นต้น ( คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป .28/2535 ฯ )

       3.   การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตภายในราชอาณาจักร เช่น โค กระบือ ไก่หรือเนื้อสัตว์ กุ้ง ปลา เป็นต้น (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.29/2535ฯ)

       4.   การขายปุ๋ย

       5.   การขายปลาป่น อาหารสัตว์

       6.   การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษาป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์

       7.   การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน

ผู้ประกอบการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย (เข้าระบบ VAT ไม่ได้)

        8.   การนำเข้าสินค้าตาม 2. ถึง 7.

       9.   การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

      10.   การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ อย่างไรก็ดี หากเป็นการให้บริการขนส่งโดยอากาศยาน และการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้

      11.   การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศทางบกและทางเรือซึ่งมิใช่เรือเดินทะเล

      12.   การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลทางราชการและเอกชน

      13.   การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์

      14.   การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น

      15.   การให้บริการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ

      16.   การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ

      17.   การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรม ในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

      18.   การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการตามที่กรมสรรพากรกำหนด คือ ต้องเป็นการวิจัยหรือบริการทางวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์และสาขาสังคมศาสตร์ แต่ต้องมิใช่เป็นการกระทำในทางธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือมูลนิธิ

      19.   การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน

      20.   การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์

      21.   การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการหารายได้ หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม

      22.   การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย

      23.   การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น

      24.  การขายสินค้า หรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ
             ( พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 )

วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

แบบคำขอที่ใช้ในการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ แบบ ภ.พ.01 ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานครขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา(เขต/อำเภอ) หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำหรับในจังหวัดอื่นขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา(อำเภอ) ทุกแห่ง

2. เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(1) คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.01 จำนวน 3 ฉบับ

(2) สำเนาทะเบียนบ้านหรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยจริง พร้อมภาพถ่ายสำเนาดังกล่าว

(3) บัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร พร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว

(4) สัญญาเช่าอาคารอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ (กรณีเช่า) หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานประกอบการ และหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นเจ้าบ้าน, สัญญาซื้อขาย, คำขอหมายเลขบ้าน, ใบโอนกรรมสิทธิ์, สัญญาเช่าช่วง พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการและภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว

(5) หนังสือจัดตั้งห้างหุ้นส่วน พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล)

(6) หนังสือรับรองของนายทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท พร้อมวัตถุประสงค์ หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ และใบทะเบียนพาณิชย์พร้อมภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว (กรณีเป็นนิติบุคคล)

(7) บัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมภาพถ่ายเอกสารดังกล่าว

(8) แผนที่ซึ่งแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป และภาพถ่ายสถานประกอบการจำนวน 2 ชุด

(9) กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจพร้อมภาพถ่ายบัตรดังกล่าว โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป

กำหนดเวลาจดทะเบียน

1. ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบการมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการอันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน การสร้างอาคารสำนักงานหรือการติดตั้งเครื่องจักร ให้ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนด 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ

2. ผู้ประกอบการที่มีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษี-มูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษี (รายรับ) เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี

หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และออกใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. จัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้แก่

(1) รายงานภาษีซื้อ

(2) รายงานภาษีขาย

(3) รายงานสินค้าและวัตถุดิบ

3. ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.พ.30

  • ช่องทางการยื่นผ่านระบบกระดาษ และ อินเตอร์เนท
  • การยื่นแบบฯและชำระภาษีที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ 1-5 และสำนักงานสรรพสามิตสาขาสำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้อง  เสียทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม 
  • การยื่นแบบใบขนสินค้าขาเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ณ ด่านศุลกากรที่มีการนำเข้า สินค้าสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้นำเข้าที่นำเข้าสินค้า

แบบแสดงรายการที่ใช้

(1) แบบ ภ.พ.01 แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(2) แบบ ภ.พ.02 แบบคำขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน

(3) แบบ ภ.พ.02.1 แบบคำขอยกเลิกการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน

(4) แบบ ภ.พ.04 แบบคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(5) แบบ ภ.พ.08 แบบคำขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(6) แบบ ภ.พ.09 แบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(7) แบบ ภ.พ. 30 ใช้สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี กรณีเดือนภาษีใดมีจำนวนภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ผู้ประกอบการจะได้รับคืนภาษี และสามารถใช้แบบ ภ.พ. 30 นี้เป็นคำขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(8) แบบ ภ.พ.30.2 แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีปรับปรุงภาษีซื้อที่เฉลี่ยตามส่วน ของรายได้

(9) แบบ ภ.พ.30.3 แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีปรับปรุงภาษีซื้อที่เฉลี่ยตามส่วน ของการใช้พื้นที่อาคาร

(10) แบบใบขนสินค้าขาเข้า ใช้สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ก็ตาม ผู้นำเข้าต้องชำระภาษีพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

(11) แบบ ภ.พ.36 ใช้สำหรับผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีดังต่อไปนี้

               (ก) ผู้จ่ายเงินที่จ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่

               – ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว หรือ

               – ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

               (ข) ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วในอัตราร้อยละ 0 ได้แก่ การรับโอนสินค้าหรือรับโอนสิทธิในบริการ ที่ได้มีการขายหรือให้บริการกับองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล ทั้งนี้เฉพาะการขายสินค้าหรือการให้บริการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

                (ค) ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน

กำหนดเวลา สถานที่ยื่นแบบและการชำระภาษี

1.   กำหนดเวลายื่นแบบ

(1)   ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี) เป็นรายเดือนทุกเดือนภาษี ไม่ว่าจะมีการขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม โดยให้ยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ในกรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้แยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน (ภ.พ.02) เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ก็สามารถยื่นแบบ ภ.พ.30 รวมกันได้ตั้งแต่เดือนภาษีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป

(2)   การนำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้นำเข้าต้องยื่นแบบใบขนสินค้าขาเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ณ ด่านศุลกากรที่มีการนำเข้าสินค้า

(3)   ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ประกอบการที่ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร หรือผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 7 วันนับแต่วันที่จ่ายเงินหรือวันรับเงินจากการขายทอดตลาดแล้วแต่กรณี ปัจจุบันได้มีประกาศกระทรวงการคลังขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยให้นำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือผู้ประกอบการ และยื่นรายการ แล้วแต่กรณี

(4)   กรณีผู้รับโอนสินค้า หรือผู้รับโอนสิทธิในบริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ให้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ปัจจุบันได้มีประกาศกระทรวงการคลังขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้นำส่งและยื่นรายการภายใน 7 วัน นับแต่วันสื้นเดือนของเดือนที่ครบกำหนด 30 วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

(5)   กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าการคลาดเคลื่อนนั้นจะเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ตาม จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มเติมได้อีกพร้อมกับชำระภาษี (ถ้ามี) ให้ถูกต้องครบถ้วน ณ หน่วยงานที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อน

รับสอนทำบัญชี ด้วยโปรแกรม Express เบื้องต้น

อัตราค่าบริการ รับสอนทำบัญชี ด้วยโปรแกรม Express เบื้องต้น ตัวต่อตัว ค่าเรียน 3,000 บาท เวลา 6.00 ชั่วโมง และแนะนำเรื่องการใช้งาน โปรแกรมตลอดไปค่ะ

จองวันเวลาเรียนติดต่อ TEL / Line 0818899022

ติดต่อ BEE-acc
สำนักงานบัญชี BEE - Accountant @beeaccountant
บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด ติดต่อ TEL 091-830-3543 ให้บริการ รับทำบัญชี รายเดือน รับทำรายปี จัดทำภาษี รายเดือน จัดทำภาษีรายปี และตรวจสอบบัญชี สำหรับกิจการนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาทุกประเภทกิจการ
Click Here
ประเภทกิจการรับ ทำบัญชี
กิจการซื้อมาขายไป กิจการบริการ กิจการผลิต
ร้านทอง ร้านยา จำหน่าย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อัญมณี นำเข้า ส่งออก Agency ทัวร์ อสังหาริมทรัพย์ สิ่งพิมพ์ เครื่องจักร ขนส่ง จัดหาพนักงาน นายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย คลินิก ความงาม ทันตกรรม ผลไม้ พื้นที่เช่า Co working space อาหาร รับเหมา เครื่องจักร ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประเภท
Click Here
ข้อดีของบริการ รับทำบัญชี ของสำนักงานบัญชี
ผู้ประกอบการได้ทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดไปที่ธุรกิจหลักของกิจการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ​ ควบคุมค่าใช้จ่ายของกิจการ ประมาณการวางแผนงบประมาณได้ดี
สำนักงาน update ความรู้และ เทคโนโลยีให้ทันกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมสรรพากร
ธุรกิจการต่างๆ เช่น ร้านค้าออนไลน์ กิจการซื้อมาขายไป กิจการผลิต กิจการนายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัย (ตามกฎ OIC)​
Designed by pch.vector / Freepik
รับทำบัญชี
Click Here
Previous
Next

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่นกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด
สำนักงานใหญ่ TAX ID 0105561120432

Contact us

Post Views: 19,666

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า