Skip to content

การตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวด

Accounting firmการตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวด  มีผลต่อบัญชีและภาษีที่เกี่ยวข้อง อย่างไร

ในหัวข้อนี้ จะขอเน้นรายละเอียดการตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดตามที่สรรพากรประกาศให้ใช้เพื่อแสดงมูลค่าที่ถูกต้อง

สินค้าคงเหลือ สินค้าคงคลัง ทางบัญชี และภาษี จัดไว้ว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ คือมีไว้เพื่อขาย หรือมีไว้เพื่อการผลิต

ดังนั้นการบริหารสินค้าคงเหลือ ก็ถือได้ว่าเป็นการบริหารสภาพคล่องของกิจการ  ทั้งกิจการซื้อมาขายไป กิจการผลิต และกิจการบริการ เช่น อู่ซ่อมรถยนต์ อู่ซ่อมรถจักรยานยนต์ กิจการบริการซ่อมคอมพิวเตอร์

จึงถือได้ว่า สินค้าคงเหลือ เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ คือมีไว้เพื่อขาย หรือมีไว้เพื่อการผลิต ดังนั้นการบริหารสินค้าคงเหลือ ก็ถือได้ว่าเป็นการบริหารสภาพคล่องของกิจการ

การตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวด
การตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวด

การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือปลายงวด เพื่อการบันทึกบัญชี และภาษี

การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือปลายงวด หรือ การตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวด เพื่อการบันทึกบัญชีที่ถูกต้องตามหลักการบัญชี และ ผลต่อภาษี สรรพากร ในส่วนที่เกี่ยวกับยอดต้นทุนสินค้าในการยื่นภาษีต่อกรมสรรพากร

ก่อนอื่นขอให้รายละเอียดสินค้าคงเหลือตามมาตราฐานการบัญชีไว้ดังนี้

มาตราฐานการบัญชี

สินค้าคงเหลือ ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 (ปรับปรุง 2560) ให้ความหมายว่า “สินทรัพย์ซึ่งมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

                   1) ถือไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ

                   2) อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขาย

                   3) อยู่ในรูปของวัตถุดิบ หรือวัสดุที่มีไว้เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าหรือให้บริการ”


การวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือเป็นดังนี้

                          สินค้าคงเหลือต้องวัดมูลค่าด้วยราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ แล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า

        มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ หมายถึง ราคาโดยประมาณที่คาดว่าจะขายได้ตามปกติของธุรกิจ หักด้วยประมาณการต้นทุนในการผลิตสินค้านั้นให้เสร็จและต้นทุนทจำเป็นต้องจ่ายไปเพื่อให้ขายสินค้านั้นได้

        มูลค่ายุติธรรม หมายถึง จำนวนเงินที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ หรือจ่ายชำระหนี้สินในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีความรอบรู้และเต็มใจในการแลกเปลี่ยน และสามารถต่อรองราคากันได้อย่างเป็นอิสระในลักษณะของผู้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

 

ทางภาษีอากร กรมสรรพากร ให้ความหมายของการตีราคาสินค้าคงเหลือเป็นดังนี้

ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติเกี่ยวกับการตีราคาสินค้าคงเหลือ ดังนี้

การตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวด  คือ ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าและให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วยการคำนวณราคาทุนดังกล่าว เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใดตามวิชาการบัญชีแล้วให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้

วิธีคำนวณ สินค้าคงเหลือ ปลายงวด

1.  วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน วิธีนี้ถือเกณฑ์สมมติว่าสินค้าที่ซื้อหรือผลิตได้ก่อนย่อมจะถูกขายออกไปก่อนและสินค้าที่เหลืออยู่ ณ วันสิ้นงวดจะเป็นสินค้าที่ซื้อหรือผลิตได้ครั้งหลังสุดตามลำดับ

2.  วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก วิธีนี้ถือว่าราคาทุนของสินค้าที่มีไว้ขายต่อหน่วยเท่ากับราคาทุนทั้งหมดของสินค้าที่ซื้อมาหารด้วยจำนวนหน่วยของสินค้านั้น ถ้ามี                สินค้าคงเหลือในวันสิ้นงวดเป็นกี่หน่วยก็เอาจำนวนหน่วยนั้นคูณด้วยราคาถัวเฉลี่ยต่อหน่วยที่หาได้ ก็จะได้ราคาของสินค้าคงเหลือปลายงวด

3.  วิธีเข้าหลัง-ออกก่อน วิธีนี้ถือว่าราคาของสินค้าที่ซื้อมาหรือผลิตได้ก่อนจะเป็นราคาทุนของสินค้าคงเหลือปลายงวด หรือสินค้าที่ซื้อมาหรือผลิตได้ครั้งหลังสุดของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นจะเป็นสินค้าที่ขายออกไปก่อน

4.  ราคาเจาะจง วิธีนี้หมายความว่าถ้าสินค้าคงเหลือสามารถแยกออกได้โดยชัดแจ้งว่าสินค้ารายใดซื้อมาเมื่อใด ด้วยราคาเท่าใด ก็ให้ตีราคาสินค้าคงเหลือตามราคาที่แท้จริงของแต่ละรายที่คงเหลืออยู่นั้น ถ้าสินค้าคงเหลือปลายงวดมีอยู่ 2 หน่วย และสามารถชี้เจาะจงลงไปว่าเป็นสินค้าที่ซื้อมาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 3 ครั้งละ 1 หน่วย ราคาของสินค้าคงเหลือปลายงวดจะมีราคา 25 บาท

การบันทึกการตีราคาสินค้าคงเหลือไปสู่มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ แสดงได้ดังนี้

เดบิต  ผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าลดลง              xxx
                    เครดิต  สินค้าคงเหลือหรือค่าเผื่อมูลค่าสินค้าลดลง              xxx

 

ดังนั้น เมื่อบันทึก สินค้าคงเหลือด้วยราคาที่ต่ำกว่า ถือว่ากิจการได้รับรู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของความล้าสมัย ราคาที่ลดลงไปแล้ว  ดังนั้น ยอดเงินตามบัญชี “ผลขาดทุน..ลดลง” จึงต้องเป็นรายการบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ต้องระวังความซ้ำซ้อน)

ข้อหารือ บัญชี ภาษี - การตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวด

ควรอ่าน - สินค้าปลายงวด

จากเพจ ท่านอาจารย์สุเทพ

 

คุณปริชาติ เส็งพานิช (22 ตุลาคม 2558 เวลา 20:45 น.)


ปุจฉา:


สวัสดีค่ะอาจารย์ ขอสอบถามปัญหาค่

บริษัทฯ ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี และได้มีการตีราคาสินค้าทุกสิ้นงวด หากสินค้าใดไม่มียอดเคลื่อนไหวเกิน 1 ปีหรือล้าสมัย ก็จะตั้งค่าเผื่อสินค้าล้าสมัยไปเรื่อย ๆ จนครบ 100%

โดยในแต่ละปีที่ตั้งค่าเผื่อสินค้าล้าสมัยก็จะถือเป็นรายจ่ายบวกกลับในแบบฯ ภ.ง.ด.50 และ

เมื่อปีใดบริษัทฯ ขายสินค้าที่ได้ตั้งค่าเผื่อสินค้าล้าสมัย 100% ไปนั้น จึงจะรับรู้ผลขาดทุนจากการขายสินค้าที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่มีการบวกกลับรายจ่าย จากที่กล่าวมาบริษัทฯ ทำถูกต้องไมค่ะ (คะ)

สุเทพ พงษ์พิทักษ์

 

วิสัชนา:

 

เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการตีราคาสินค้าคงเหลือ ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า “
“(6) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย
การคำนวณราคาทุนตามวรรคก่อน เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใด ตามวิชาการบัญชี ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้”

 


ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า

1. สินค้าเทคโนโลยี ที่ไม่มียอดเคลื่อนไหวเกิน 1 ปี หรือล้าสมัย ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการตีราคาสินค้าทุกสิ้นงวด หากสินค้าใด ก็จะตั้งค่าเผื่อสินค้าล้าสมัยไปเรื่อย ๆ จนครบ 100% โดยในแต่ละปีที่ตั้งค่าเผื่อสินค้าล้าสมัยก็จะถือเป็นรายจ่ายบวกกลับในแบบฯ ภ.ง.ด.50 นั้น บริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว เพราะการตั้งค่าเผื่อสินค้าล้าสมัย (Provision) มิใช่การตีราคาสินค้าคงเหลือตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งที่สินค้าคงเหลือมีราคาตลาดต่ำกว่าราคาทุนก็ตาม


2. การตีราคาสินค้าคงเหลือดังกล่าว ให้กระทำในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ขายสินค้าที่ได้ตั้งค่าเผื่อสินค้าล้าสมัย 100% ไว้แล้วนั้น บริษัทฯ สามารถรับรู้ผลขาดทุนจากการขายสินค้าที่เกิดขึ้นจริงในทางบัญชี แต่ในทางภาษีอากร เนื่องจากบริษัทฯ มิได้ใช้สิทธิตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ผลขาดทุนดังกล่าว จึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร กรณี “รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น” บริษัทฯ จึงต้องปรับปรุงบวกกลับรายจ่ายผลขาดทุนดังกล่าวทั้งจำนวน
เท่ากับบริษัทฯ ต้องแบกรับภาระภาษีทั้งสองขา อันเป็นภาระที่หนักมาก จึงควรศึกษาและพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตีราคาสินค้าคงเหลือตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ชัดเจนเพิ่มเติมอีก
อนึ่ง มีผู้โพสต์ใน http://www.avaccount.com/accountcontent/index.php?topic=2341.0 ว่า

 

ตามความเข้าใจส่วนตัว ผมมองว่าไม่ว่าจะเป็นมาตราฐานบัญชีฉบับที่ 31 เกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ และทางภาษีอากรตามมาตรา 65 ทวิ (6) ได้กำหนดให้คำนวณแสดงราคาสินค้าคงเหลือตามราคาต้นทุนหรือ มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ แล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า

ซึ่งหลักปฏิบัติทั้งทางบัญชีและทางภาษีอากรก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ปัจจุบันผมจึงไม่พบการตั้งค่าเผื่อมูลค่าสินค้าล้าสมัยแล้วครับ เพราะจะแสดงราคาสินค้าตามราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่าเลยครับ


ตัวอย่าง

เช่น ณ วันที่ 31 ธ.ค. 49 สินค้าคงเหลือตามราคาทุนเท่ากับ 1,250,000 บาท แต่ตามมูลค่าสุทธิที่จะได้รับเท่ากับ 1,000,000 บาท ก็จะบันทึกบัญชีโดย

ณ วันที่ 31 ธ.ค. 49

Dr. สินค้าคงเหลือปลายงวด ……………………… 1,000,000
      ขาดทุนจากการตีราคาสินค้าลดลง ………………250,000
      Cr. กำไรขาดทุน ……………………………………………..1,250,000

ณ วันที่ 31 ธ.ค. 50

Dr. กำไรขาดทุน …………………………1,000,000
        Cr. สินค้าคงเหลือต้นงวด………………………… 1,000,000

 


ข้อสังเกต




ตามหลักการบัญชีการนำผลขาดทุนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่ทางด้านกฏหมายภาษีอากรถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามต้องนำผลขาดทุนนั้นไปบวกกลับปรับปรุงกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

เนื่องจากราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีเมื่อได้มีการคำนวณราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า ก็ให้ถือราคาดังกล่าวเป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาในรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย

ดังนั้นผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือดังกล่าวจะนำมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ เพราะการตีราคาสินค้าตามมูลค่าสุทธิที่จะได้รับซึ่งต่ำกว่าราคาทุนนั้น เท่ากับเป็นการหักรายจ่ายไปครั้งหนึ่งแล้ว

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกำไรขาดทุนที่เกิดจากการตีราคาสัตว์หรือพืชมีชีวิต

ข้อหารือ  กค 0706/10178

ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 57 เรื่อง เกษตรกรรม มีข้อกำหนดบางประการ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีอากร สภาฯ ดังนี้

1. มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้กำหนดให้กิจการบันทึกราคาของสัตว์หรือพืชที่มีชีวิต (สินทรัพย์ชีวภาพ) โดยวัดมูลค่าเมื่อมีการรับรู้เริ่มแรก และ ณ ทุกวันสิ้นงวดในงบดุล ด้วยมูลค่ายุติธรรมหักด้วยประมาณการค่าใช้จ่าย ณ จุดขาย เว้นแต่การวัดมูลค่ายุติธรรมไม่สามารถทำได้อย่างน่าเชื่อถือ ซึ่งเมื่อมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละงวดบัญชี ให้กิจการแสดงสินทรัพย์ดังกล่าวด้วยมูลค่ายุติธรรมและรับรู้ผลต่างจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรม โดยบันทึกการเปลี่ยนแปลงเป็นกำไรหรือขาดทุนสำหรับงวดแม้ว่าจะยังไม่มีการขายเกิดขึ้น กำไรขาดทุนที่เกิดจากการตีราคาสัตว์หรือพืชที่มีชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมจะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่

2. เมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลิตผลจากสินทรัพย์ชีวภาพ มาตรฐานการบัญชีกำหนดให้กิจการบันทึกราคาของผลิตผลทางการเกษตรนั้นด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ จุดเก็บเกี่ยวหักด้วยประมาณการค่าใช้จ่าย ณ จุดขาย และรับรู้มูลค่ายุติธรรมนี้เป็นรายได้ของงวด แม้ว่าจะยังไม่มีการขายก็ตาม ซึ่งมูลค่ายุติธรรมที่ได้จะถือเป็นต้นทุนของสินค้าคงเหลือของกิจการด้วย กำไรขาดทุนจากการบันทึกราคาของผลิตผลทางการเกษตรตามมูลค่ายุติธรรมจะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่

แนววินิจฉัย

1. การบันทึกราคาของทรัพย์สินประเภทสัตว์หรือพืชที่มีชีวิต (สินทรัพย์ชีวภาพ) ให้ถือตามราคาที่พึงซื้อได้ตามปกติ ในกรณีที่มีการตีราคาเพิ่มขึ้น ห้ามมิให้นำราคาที่ตีราคาเพิ่มขึ้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ และให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราเดิมที่ใช้อยู่ก่อนตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยให้หักเพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร


กรณีที่ตีราคาทรัพย์สินดังกล่าวต่ำลง ค่าของทรัพย์สินที่ตีราคาต่ำลง ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวออกไปแล้วมีผลขาดทุนเกิดขึ้น จึงจะมีสิทธินำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้

2. การบันทึกราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสำหรับผลิตผลทางการเกษตร ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

หากราคาตลาดน้อยกว่าราคาทุน ผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ จะนำมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ เพราะการตีราคาตามราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าทุนนั้น เท่ากับเป็นการหักรายจ่ายไปครั้งหนึ่งแล้ว

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

กค 0706/764

บริษัท อ. ประกอบกิจการขายเฟอร์นิเจอร์ โดยได้จัดโชว์รูมสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้เลือกชมสินค้าตัวอย่าง สินค้าที่นำมาโชว์เป็นสินค้าที่ซื้อมาเพื่อโชว์ เมื่อสินค้าดังกล่าวล้าสมัย และมีสภาพไม่สมบูรณ์ บริษัทฯ ได้เปลี่ยนสินค้าโชว์ใหม่ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี หากสินค้าที่โชว์มีราคาตลาดต่ำกว่าทุน บริษัทฯ จะต้องนำผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือดังกล่าวมาบวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่


การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคา ตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีด้วย ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น บริษัทฯ ต้องคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของ รอบระยะเวลาบัญชี โดยคำนวณตามราคาตลาดที่ต่ำกว่า จึงให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับ รอบระยะเวลาบัญชีใหม่ ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

 

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ต้องนำผลต่างระหว่าง ราคาทุนและราคาตลาดมาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ แต่อย่างใด

ภาษีเงินได้นิติบุคคล การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

กค 0811/01612

 

มาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่าและให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่

ดังนั้น กรณีที่บริษัทคำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดที่ต่ำกว่าอันเนื่องมาจากความเสียหาย ล้าสมัย เสื่อมคุณภาพหรือราคาขายลดลง ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

บริษัทจะต้องนำผลขาดทุนจากการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือดังกล่าวมาบวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือไม่

แนววินิจฉัย

กรณีราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วยตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร


ตามข้อเท็จจริงบริษัทคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยคำนวณตามราคาตลาดที่ต่ำกว่า จึงให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ทั้งนี้ บริษัทไม่ต้องนำผลต่างระหว่างราคาทุนและราคาตลาดมาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทแต่อย่างใด

การตีราคาสินค้าคงเหลือ กิจการร้านทอง

คุณศรินทิพย์ สวย “ชินภูมิวสะนะ” (8 กันยายน 2558 เวลา 11:18 น.)

ปุจฉา: เรียน ท่านอาจารย์คะ

ขออนุญาตเรียนสอบถามเพื่อขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ เกี่ยวกับสินค้าคงเหลือของกิจการร้านทอง (จำหน่ายทองรูปพรรณ)

1. วิธีการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือ ที่เหมาะสมควรใช้วิธีอะไรคะ เช่น วิธีเข้าก่อนออกก่อน, วิธีถัวเฉลี่ย ฯลฯ

2. ณ วันสิ้นปี จำเป็นจะต้องตีราคาสินค้าคงเหลือตามราคาทุนที่ซื้อ เปรียบเทียบกับราคาตลาดหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ณ วันที่ในงบการเงินแล้วใช้ราคาที่ต่ำกว่าหรือไม่คะ
– และหากจำเป็นต้องตีราคาดังกล่าวข้างต้น ณ วันสิ้นปี ผลต่างกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคา จะบันทึกเข้าบัญชีอะไรคะ
– และหากยอดสินค้าคงเหลือยกมาจากปีก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการตีราคาตลาดหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับเลย จะใช้ยอดคงเหลือตามราคาทุนตลอด อย่างนี้ต้องปรับปรุงยอดคงเหลือของสินค้าคงเหลือต้นงวดยกมาจากปีก่อนหรือไม่ และปรับปรุงเข้าบัญชีอะไรคะ
ขอแสดงความนับถือ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:

 

เกี่ยวกับสินค้าคงเหลือของกิจการจำหน่ายทองรูปพรรณ

1. วิธีการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือ ที่เหมาะสมควรใช้วิธีถัวเฉลี่ย เพราะทองมีคุณสมบัติเหมือนกัน และเวลาขายลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ มิใช่การหยิบขายเหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป


2. ณ วันสิ้นปี จำเป็นจะต้องตีราคาสินค้าคงเหลือตามราคาทุนที่ซื้อ เปรียบเทียบกับราคาตลาดหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ณ วันที่ในงบการเงินแล้วใช้ราคาที่ต่ำกว่า ถือต้องตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษากร

           2.1 หากมีผลขาดทุนจากการตีราคา ให้บันทึกเข้าบัญชีต้นทุนสินค้าที่ขาย แต่ต้องระวังจะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิซ้ำซ้อนกัน กับมูลค่าสินค้าคงเหลือที่นำมาหักออกในการคำนวณมูลค่าสินค้าที่ขาย
          2.2 สำหรับยอดสินค้าคงเหลือยกมาจากปีก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการตีราคาตลาดหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับเลย โดยหลักการทั่วไป ต้องทำการตีราคาสินค้าคงเหลือของรอบระยะเวลาบัญชีปีก่อนให้ถูกต้อง เป็นแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

 

การตีราคาสินค้าคงเหลือ กิจการร้านทอง และต้นทุนอื่น

คุณ Kananita TK (31 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 11:35 น.)
อาจารย์คะ พอดีหนูไปอ่านเจอข้อความเกี่ยวกับการตีราคาสินค้าคงเหลือประเภททองคำที่อาจารย์ได้ตอบไปในปี 2558 (ดังรูป) หนูมีข้อสงสัยเพิ่มเติม

1. ในคำตอบข้อ 2 หมายถึงว่า การที่เราเอาผลขาดทุนจากการตีราคาไปหักออกการคำนวณต้นทุนขายแล้ว ให้ระวังว่า มูลค่าสินค้าคงเหลือปลายงวดที่นำไปหักออกจากการคำนวณมูลค่าสินค้าที่ขาย ต้องเป็น มูลค่าสินค้าก่อนตีราคา ถูกหรือไม่คะ? เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เรานำยอดขาดทุนจากการตีราคามาใช้ซ้ำซ้อนกัน

2. ในกรณีที่มิได้ตีราคาต้นงวด ก็ให้ปฏิบัติวิธีเดียวกับ การตีราคาปลายงวดใช่หรือไม่คะ ?

3. การตีราคาทองคำ สามารถเอายอดรวมของทองคำ (น้ำหนักรวม) ณ.วันสิ้นงวด มาตีราคาได้หรือไม่คะ? หรือต้องตีแยกเป็นแต่ละเส้น และแต่ละประเภท?

4. ในกรณีที่บริษัท รับซื้อทองเก่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อทอง สามารถรวมเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนได้หรือไม่คะ?

5. หากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการซื้อทอง ควรรวมเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการขาย หรือ ค่าใช้ในการดำเนินงานคะ?
กราบขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าค่ะ


สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:

1. ในคำตอบข้อ 2 ดังต่อไปน้
….“2. ณ วันสิ้นปี จำเป็นจะต้องตีราคาสินค้าคงเหลือตามราคาทุนที่ซื้อ เปรียบเทียบกับราคาตลาดหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ณ วันที่ในงบการเงินแล้วใช้ราคาที่ต่ำกว่า ถือต้องตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษากร
……..2.1 หากมีผลขาดทุนจากการตีราคา ให้บันทึกเข้าบัญชีต้นทุนสินค้าที่ขาย แต่ต้องระวังจะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิซ้ำซ้อนกัน กับมูลค่าสินค้าคงเหลือที่นำมาหักออกในการคำนวณมูลค่าสินค้าที่ขาย
……..2.2 สำหรับยอดสินค้าคงเหลือยกมาจากปีก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการตีราคาตลาดหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับเลย โดยหลักการทั่วไป ต้องทาการตีราคาสินค้าคงเหลือของรอบระยะเวลาบัญชีปีก่อนให้ถูกต้อง เป็นแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี”


….    หมายความว่า การที่เราเอาผลขาดทุนจากการตีราคาไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนแล้ว พึงต้องระวังว่า มูลค่าสินค้าคงเหลือปลายงวดที่นำไปหักออกจากการคำนวณต้นทุนสินค้าที่ขาย ต้องเป็น มูลค่าสินค้าก่อนตีราคา เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เรานำยอดขาดทุนจากการตีราคามาใช้ซ้ำซ้อนกัน ถูกต้องแล้ว


2. สินค้าคงเหลือยกมาต้นงวด ให้ใช้ราคาสินค้าคงเหลือ ณ วันปลายงวดของรอบระยะเวลาบัญชีปีก่อน จึงไม่ต้องตีราคาซ้ำซ้อนอีก เพราะห่างกันเพียงแต่เสี้ยววินาทีเท่านั้น จึงไม่ต้องถือปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการตีราคาสินค้ายกมาต้นงวดแต่อย่างใด ให้ใช้ผลการตีราคาสินค้าปลายงวดมาเป็นมูลค่าสินค้าต้นงวดยกมาได้โดยอัตโนมัติ


3. การตีราคาต้นทุนทองคำ ณ วันสิ้นงวด ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วิธีการตีราคาทุนทองคำว่า กิจการเลือกใช้วิธีการใด หากเลือกวิธีถัวเฉลี่ย ก็ย่อมสามารถนำยอดรวมของทองคำ (น้ำหนักรวมแต่ละประเภท เช่น ทองรูปพรรณแต่ละชนิด ทองคำแท่ง ซึ่งคำนวณตามวิธีถัวเฉลี่ย) มาเปรียบเทียบกับราคาตลาดได้….แต่ถ้าตีราคาทุนแบบ “เข้าก่อนออกก่อน” ก็ต้องตีแยกเป็นแต่ละเส้น และแต่ละประเภท


4. ในกรณีที่บริษัท รับซื้อทองเก่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อทอง ย่อมถือเป็นต้นทุนทองคำได้


5. หากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการซื้อทอง ควรรวมเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทองคำแต่ละประเภทที่ซื้อมา

ประเด็นสับสน - ผลต่างการตีราคาสินค้าคงเหลือลดลง ณ ปลายงวดต้องนำมาบวกกลับหรือไม่

https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/2399475943436701

คุณ Tang-tang Bovino (15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 23:50 น.)
เรียน ท่านอาจารย์สุเทพ ครับ


ผมขออนุญาตสอบถามต่อจากคำถามนี้ (ของคุณ Preeyanun Dear) ครับ ผมไม่เข้าใจความหมายของคำว่าเคยหักเป็นค่าใช้จ่ายครั้งหนึ่งแล้วครับ

หากผมดำเนินงานในปีนี้เป็นปีแรก แต่สินค้าคงเหลือของผมมีความผันผวนตามราคาตลาด เช่น ยางพารา ณ วันสิ้นงวด

ผมจึงตีราคาสินค้าคงเหลือให้ต่ำลงด้วยราคาตลาด ณ วันสิ้นงวด อย่างนี้แล้วตอนคำนวณกำไรทางภาษีในปีแรกของผมนั้น รายการขาดทุนที่เกิดจากการตีมูลค่าตลาดที่ต่ำกว่านั้นมีลักษณะต้องห้ามด้วยหรือไม่ครับ


ขออนุญาตยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ ผมใช้วิธีการบันทึกบัญชีแบบ periodic ตอนผมโอนปิดสินค้าปลายงวด(ราคาทุน)
Dr สินค้าคงเหลือ (หมวด1)
….Cr. สินค้าปลายงวด (หมวด5)


ทดสอบ NRV สิ้นงวด ปรากฎว่า เกิดขาดทุนจากการวัดมูลค่าด้วยราคาตลาดที่ต่ำกว่า ผมบันทึกบัญชี
Dr. ขาดทุนจากการวัดมูลค่า (SGA)
….Cr. สินค้าคงเหลือ (หมวด1)

ถ้าเป็นตามตัวอย่างข้างต้นแล้วแสดงว่ายังต้องบวกกลับอีกหรือไม่ครับ
อ้างถึง กค 0706/764 กล่าวว่าไม่ต้องนำมาบวกกลับเพื่อคำนวณภาษีครับ

ขอบคุณครับ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์


วิสัชนา:

ความหมายของคำว่าเคยหักเป็นค่าใช้จ่ายครั้งหนึ่งแล้ว ได้แก่
      กรณีที่กิจการ บันทึกรับรู้ผลขาดทุนจากการวัดมูลค่า (SGA) โดยนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนครั้งหนึ่งแล้ว ในงบต้นทุน

      เมื่อกิจการใช้ราคาตลาดที่ต่ำกว่าราคาทุนไปเป็นรายการหักออกจากตุ้นทุนสินค้าที่่มีเพื่อขาย ทำให้ต้นทุนสินค้าที่ขาดมียอดสูงขึ้นจากการที่ราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดที่ตีราคาต่ำกว่าราคาตลาด

       จึงเท่ากับกิจการรับรู้รายจ่ายผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

 ตามหนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/10178 ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2548 จึงกล่าวว่า “หากราคาตลาดน้อยกว่าราคาทุน ผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ จะนำมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ เพราะการตีราคาตามราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าทุนนั้น เท่ากับเป็นการหักรายจ่ายไปครั้งหนึ่งแล้ว”


กรณีผลการดำเนินงานในปีแรก โดย่สินค้าคงเหลือของกิจการมีความผันผวนตามราคาตลาด เช่น ยางพารา ณ วันสิ้นงวด กิจการจึงตีราคาสินค้าคงเหลือให้ต่ำลงด้วยราคาตลาด ณ วันสิ้นงวด เช่นนี้ ในการคำนวณกำไรทางภาษีในปีแรกของกิจการนั้น รายการขาดทุนที่เกิดจากการตีมูลค่าตลาดที่ต่ำกว่านั้นมีลักษณะต้องห้าม ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว กิจการต้องบวกกลับผลขาดทุนจากการวัดมูลค่า ในแบบ ภ.ง.ด.50 มิฉะนั้น

กิจการจะมียอดขาดทุนจากการตีราคาสินค้าในงบกำไรขาดทุน ซ้ำกันสองครั้ง (double)


ตามหนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/764 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 กล่าวว่า “ไม่ต้องนำ “บริษัทฯ ไม่ต้องนำผลต่างระหว่าง ราคาทุนและราคาตลาด” มาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิของ บริษัทฯ แต่อย่างใด” นั้น เข้าใจว่า ไม่สามารถใช้อ้างอิงเป็นการทั่วไปได้ เพราะ


….ประการที่หนึ่ง การรับรู้ผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ แล้วยังนำยอดสินค้าคงเหลือที่ตีราคาลดลงแล้ว มาใช้เป็นรายการหักในการคำนวณต้นทุน เป็นความซ้ำซ้อนอย่างเห็นได้ชัด


….ประการที่สอง ไม่มีรายละเอียดของการตีราคาและการปรับปรุงผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ ซึ่งแตกต่างไปจากหนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/10178 ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ดังกล่าว


เลขที่หนังสือ: กค 0706/764
วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
….บริษัท อ. ประกอบกิจการขายเฟอร์นิเจอร์ โดยได้จัดโชว์รูมสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้เลือกชมสินค้าตัวอย่าง สินค้าที่นำมาโชว์เป็นสินค้าที่ซื้อมาเพื่อโชว์ เมื่อสินค้าดังกล่าวล้าสมัย และมีสภาพไม่สมบูรณ์ บริษัทฯ ได้เปลี่ยนสินค้าโชว์ใหม่ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี หากสินค้าที่โชว์มีราคาตลาดต่ำกว่าทุน บริษัทฯ จะต้องนำผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือดังกล่าวมาบวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
แนววินิจฉัย
….การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีด้วย ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ ต้องคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยคำนวณตามราคาตลาดที่ต่ำกว่า จึงให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับ รอบระยะเวลาบัญชีใหม่ ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ต้องนำผลต่างระหว่าง ราคาทุนและราคาตลาดมาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิของ บริษัทฯ แต่อย่างใด
เลขตู้ : 71/35614

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่นกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

สำนักงานบัญชี BEE-Accountant
บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด
สำนักงานใหญ่ TAX ID 0105561120432

Contact us

Post Views: 34,270

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า