Skip to content

บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย​

บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย​

การแยกประเภทรายการอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ของกิจการ ผลกระทบการหักภาษี ณ ที่จ่าย ค่าสินค้า ทำไมบางกรณีค่าสินค้าต้องหักภาษี ออกใบกำกับภาษีอย่างไร ค่าบริการที่รวมกับค่าสินค้า หักภาษี อย่างไร เป็นบริการซ่อมแซม มีแต่ค่าอะไหล่ ผู้่จ่ายต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ เพราะอะไร บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจในรายการค้าของกิจการซื้อมาขายไป หรือกิจการที่มีการผลิตตามความต้องการของลูกค้าแบบไหนสรรพากรถือเป็นการขาย แบบไหนถือว่าเป็นบริการรับจ้างผลิต

บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย​
บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย

บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย​

บัญชี ภาษี รับทำบัญชี
อัตราภาษี

สัญญาจ้างทำของ

หมายถึงสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้างตกลงรับทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
จ้างทำของมุ่งผลสำเร็จของงานที่ทำมากกว่างานที่ทำหรือสิ่งที่ได้จากการจ้าง

สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่เกิดจากการตกลงถูกต้องตรงกันระหว่างบุคคลสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้ว่าจ้าง อีกฝ่ายหนึ่งคือผู้รับจ้าง

โดยผู้รับจ้างตกลงจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงานหรือบงการแก่ผู้รับจ้าง

สัญญาจ้างทำของมีความหมายรวมถึงการทำให้เกิดวัตถุมีรูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น (Production of thing) หรือการดัดแปลงต่อเติมวัตถุมีรูปร่าง และทำ การงานให้เกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นนอกจากทำให้เกิดวัตถุมีรูปร่าง กล่าวคือ

การจ้างทำของอาจเป็นการจ้างทำสิ่งของจริงๆ หรือเป็นการเหมาให้ทำงานเกิดผลอันไม่เป็นสิ่งของก็ได้ เช่น จ้างปลูกบ้านทั้งหลังหรือต่อเติมบ้านเพียง บางส่วน เขียนรูป ทาสีบ้าน แสดงภาพยนตร์ จ้างว่าความ ฯลฯ เหล่านี้ เป็นจ้างทำของได้ทั้งนั้น

สัญญาซื้อขาย

หมายถึง

สัญญาซื้อขาย เป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

 

ลักษณสำคัญของสัญญาซื้อขาย


       1. เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ต้องมีคู่สัญญาสองฝ่าย คือ ผู้ซื้อกับผู้ขาย ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ตอบแทนจากกันและกัน โดยผู้ขายได้รับชำระราคา และผู้ซื้อได้รับสินทรัพย์ไป
       2. เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ เพียงแต่มีคำเสนอและคำสนองตรงกัน ก็ถือว่าเป็นการซื้อขายแล้ว ซึ่งมีข้อยกเว้นอยู่ว่าถ้าสินทรัพย์ที่จะซื้อขายกันนั้น เป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษจะต้องทำตามแบบ ไม่เช่นนั้นสัญญาจะตกเป็นโมฆะ
      3. เป็นสัญญาที่ผู้ขายมุ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อมุ่งชำระราคาแก่ผู้ขาย

 

 

ประเภทของสัญญาซื้อขาย ประเภทของสัญญาซื้อขายสามารถพิจารณาได้ดังนี้

.
       1. สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เป็นสัญญาซื้อขายที่มีการกำหนดตัวทรัพย์ซื้อขายที่แน่นอน โดยผู้ขายจะต้องมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ซื้อขาย
       2. สัญญาจะซื้อขาย เป็นสัญญาที่คู่สัญญามีเจตนาจะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์กันในภายหลัง เพราะฉะนั้นกรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนในขณะที่ทำสัญญา ซึ่งรวมถึงกรณีการทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินที่ต้องทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด
       3. คำมั่นว่าจะซื้อขาย ถ้าทรัพย์สินที่ซื้อขายเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ การจะทำคำมั่นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย :
สรุปเนื้อหาความแตกต่าง

การแยกประเภทว่าเป็นสัญญารับจ้างทำของ หรือสัญญาซื้อขาย มีหลักดังนี้

1. ไม่สนใจชื่อสัญญา มุ่งเจตนา

2. ความสำคัญอยู่ที่ว่า สัมภาระกับการงานที่รับทำจนสำเร็จนั้นสิ่งไหน สำคัญกว่ากัน ถ้าการงานที่รับทำจนสำเร็จสำคัญกว่าสัมภาระก็เป็นรับจ้างทำของ แต่ถ้าไม่สำคัญกว่าก็เป็นการซื้อขาย

 

บริการซ่อมรถยนต์ กค 0811/7660 – 

                ศูนย์บริการผู้รับจ้างประกอบกิจการรับจ้างซ่อมรถยนต์ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของผู้จัดหาอะไหล่เพื่อใช้สำหรับการซ่อมรถยนต์เอง บริษัทฯ จึงมี หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของยอดเงินที่จ่ายทั้งที่เป็นค่าแรงและค่าอะไหล่  

                ถ้าศูนย์บริการฯ เรียกเก็บค่าอะไหล่อย่างเดียว โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าแรงด้วย บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของ ยอดเงินที่จ่ายทั้งหมด 

 

การผลิตสินค้าเพื่อขายและการผลิตสินค้าตามคำสั่งลูกค้า  – กิจการผลิตสติกเกอร์ขายเป็นปกติ และมีผลิตตามคำสั่งเป็นบางกรณี กค 0811/3491 หรือกิจการผลิตซองจดหมาย กระดาษ

 

                บริษัทฯ ผลิตสติกเกอร์เพื่อจำหน่ายเป็นการทั่วไปเป็นปกติอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะผลิตสติกเกอร์ ตามคำสั่งลูกค้าการจำหน่ายหรือการรับทำดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระราคา ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 

               ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงกว่าการผลิตเพื่อจำหน่ายทั่วไป เปลี่ยนแปลงวัตถุดิบสัมภาระ  – กรณีนี้ถือเป็นการจ้างทำของ

               ถ้ากิจการใช้วัตถุดิบสัมภาะเดิมในการผลิต โดยมีการเปลี่ยนรูปแบบ รูปทรงการผลิต ถือว่าเป็นการจำหน่ายสินค้าโดยทั่วไป 

 

การขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้งให้สินค้าพร้อมใช้งาน กค 0702/9274

 

            กรณีขายสินค้าโดยมิได้ให้บริการติดตั้งหรือซ่อมแซมบำรุงรักษา  –  ถือเป็นการขายไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

            การขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้งโดยออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าพร้อมบริการติดตั้งรวมเป็น ยอดเดียวกัน –  ถือเป็นการขายไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

            กรณีขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้งโดยการออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าและบริการติดตั้ง แยกออกเป็น 2 ฉบับ คือ ค่าสินค้าหนึ่งฉบับและค่าบริการติดตั้งหนึ่งฉบับ หรือออกใบกำกับภาษีเป็นฉบับเดียวกันแต่แยกเป็นสองรายการคือรายการ ค่าสินค้าหนึ่งรายการและค่าบริการติดตั้งอีกหนึ่งรายการ  – เฉพาะค่าบริการที่แยกออกจากราคาสินค้า เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำของผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 

           การให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษา โดยออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ ค่าอุปกรณ์และบริการติดตั้งฉบับเดียวกันแต่แยกราคาค่าอุปกรณ์และค่าบริการออกจากกันเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำของ ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย จากยอดรวมมูลค่าสินค้าและค่าซ่อมแซม โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 
                 

บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย​ - การพิจารณาความแตกต่าง

  1. ต้องพิจารณข้อเท็จจริงว่า กิจการผลิตสินค้านั้นๆ เป็นปกติของกิจการอยู่แล้วหรือไม่
  2. ถ้ามิได้ผลิตเป็นไปตามปกติของกิจการ ผลิตตามคำสั่งของลูกค้าแต่ละรายแตกต่างกันไป ถือว่าเป็นการรับจ้างทำของ
  3. ผลิตเป็นปกติ และมีการดัดแปลงตามคำสั่งซื้อของลูกค้าแต่ละรายโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงวัตถุดิบสัมภาระ  ถือว่าเป็นการขายสินค้าตามปกติ
  4. ผลิตเป็นปกติ และมีการดัดแปลงตามคำสั่งซื้อของลูกค้าแต่ละรายโดยมีเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบสัมภาระ  เช่นใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ  ใช้วัตถุดิบทีทางผู้ว่าจ้างจัดหามาให้ ใช้วัตถุดิบคุณภาพดี หรือ ด้อยกว่าการผลิตปกติ ถือว่าเป็นการรับจ้างทำของ

บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย​ - ภาษีที่เกี่ยวข้อง

สัญญาจ้างทำของ(บริการ)

สัญญาซื้อขาย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT

ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม จุดรับผิดในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม การออกใบกำกับภาษี

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

สัญญาบริการมูลค่าที่ต้องนำมาเป็นฐานภาษีในการคิดคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย สัญญาซื้อขาย แยกบริการ หรือ สัญญาซื้อขาย รวมบริการ หรือสัญญาซื้อขาย แถมบริการ มูค่า

รายงานสินค้าคงเหลือ

การจัดทำรายงานสินค้าคงเหลือ วัตถุดิบ งานระหว่างทำ ตามที่กฎหมายกำหนด

อากรแสตมป์

สัญญาบริการต้องติดอากรแสตมป์

ภาษี ค่าขนส่งและค่าบริการ
ภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย ที่มา Facebook ท่านอาจารย์สุเทพ

บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ - คำสั่งกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้อง

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

 ข้อ 8 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน เฉพาะที่เป็นค่าจ้างทำของ ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น 
                          (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะค่าจ้างทำของที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 
                          (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 
                                 (ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.73/2541
                          (3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 
                                  (ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.8/2528
                                  (ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.20/2531
                          “เฉพาะค่าจ้างทำของที่เป็นเงินได้จากการรับเหมาก่อสร้างที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ ให้ใช้บังคับสำหรับสัญญาจ้างที่ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไป ” 
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.21/2530 ใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน 2530 เป็นต้นไป) 
(ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.125/2546)

สัญญาซื้อขาย พร้อมบริการ - ความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม

สัญญาบริการ :  ความรับผิดทางภาษีมูลค่าเป็นไปตามเกณฑ์เงินสด  เมื่อได้รับชำระ หรือได้ออกใบกำกับภาษี

สัญญาซื้อขาย :  ความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่ม เกิดเมื่อส่งมอบสินค้า หรือไ้รับการชำระราคา

ในการขายสินค้าพร้อมบริการ เช่น ขายสีพร้อมทาสี หรือขายเสาเข็มพร้อมตอก  เอกสารใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าและค่าบริการ แยกจากกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดต่างกัน กิจการต้องคำนึงถึงจุดนี้เพื่อนำส่งภาษีในรอบการเกิดความรับผิดได้ถูกต้อง

แต่ถ้าผู้ขายรวมค่าสินค้าและบริการติดตั้งเป็นยอดเดียวกันถือเสมือนการขายสินค้าทั้งจำนวน ใช้จุดความรับผิดในการเสียภาษีตามการขายสินค้า

บัญชีภาษี สัญญาจ้างทำของ สัญญาซื้อขาย :
ข้อหารือภาษีอากร

ผลิตสินค้าเพื่อขายเป็นปกติธุระ

Inbox: เสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เวลา 13:49 น.  คุณ AttyToom Somthawin
อาจารย์คะ ขอสอบถามหน่อยค่ะ


กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการเกี่ยวกับ การผลิตและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ตามความต้องการของลูกค้าที่ไม่ใช่ Mass Product ปกติจะต้องเป็นสัญญาจ้างทำของหรือสัญญาซื้อขายคะ เพราะจะเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยค่ะ รวมถึงการติดอากรแสตมป์ รบกวนอาจารย์ให้คำแนะนำด้วยนะคะ

คำว่าผลิตสินค้าเป็นปกติธุระ หมายถึงลักษณะเช่นใดหรือค่ะ

เช่นอย่างของบริษัทฯ จะประกอบกิจการรับออกแบบ ผลิต ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งสั่งก่อนแล้วจึงเริ่มผลิต และมีการส่งมอบติดตั้งสินค้าที่สถานที่ซึ่งลูกค้ากำหนด โดยในใบสั่งซื้อจะระบุราคาเป็นค่าสินค้า ไม่ชี้เฉพาะแยกในการส่งมอบติดตั้งค่ะ เช่นนี้จะเข้าลักษณะสัญญาซื้อขายหรือเปล่าค่ะ (บางกรณีมีแยกเป็นค่าติดตั้งค่ะ)
ขอบพระคุณค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:


คำว่า “ผลิตสินค้าเพื่อขายเป็นปกติธุระ” หมายถึง การประกอบกิจการผลิตสินค้าและจำหน่าย โดยมีการผลิตสินค้าตามมาตรฐานไว้เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าทั่วไป หรือมีโชว์รูมแสดงสินค้า หรือนำไปวางขายในห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์โสตร์ มิได้มีลักษณะเป็นการรับจ้างผลิตสินค้าให้ประกอบการรายใดรายหนึ่งหรือผลิตเพื่อการรับจ้าง (ตามคำสั่งจ้าง) เป็นการเฉพาะ


ตัวอย่างแนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากร


….“วัตถุประสงค์การประกอบกิจการของบริษัทฯ ตามแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 01 กิจการของ บริษัทฯ เป็นประเภทผลิตและจำหน่ายกล่องกระดาษและกระดาษลูกฟูก บริษัทฯ ได้ผลิตกล่องขนาดมาตรฐานไว้เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าทั่วไป แต่มีบางโอกาสที่บริษัทฯ ได้ไปรับจ้างลูกค้าเฉพาะรายเพื่อผลิตกล่องกระดาษตามรูปแบบที่ ลูกค้ารายนั้นๆ ต้องการ กิจการของบริษัทฯ

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ถือได้ว่า บริษัทฯ ทำกล่องกระดาษและกล่อง กระดาษลูกฟูกไว้เพื่อขายเป็นปกติ

การที่บริษัทฯ รับจ้างบริษัท ป. ผลิตกล่อง EMS FREE BOX แม้จะต้องผลิตกล่อง ดังกล่าว ตามรูปแบบที่บริษัท ป. กำหนดให้กระทำ ก็ยังคงถือว่า เป็นการขายกล่อง EMS FREE BOX ให้แก่บริษัท ป. เมื่อบริษัท ป. จ่ายเงินค่ากล่อง จึงเป็นการชำระเงินค่าซื้อสินค้าและไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528” (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/568 ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2551)

กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการเกี่ยวกับ การผลิตและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ตามความต้องการของลูกค้าที่ไม่ใช่ Mass Product ปกติจะต้องเป็นสัญญาจ้างทำของหรือสัญญาซื้อขายคะ เพราะจะเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยค่ะ รวมถึงการติดอากรแสตมป์ โดยบริษัทฯ รับออกแบบ ผลิต ตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งสั่งก่อนแล้วจึงเริ่มผลิต และมีการส่งมอบติดตั้งสินค้าที่สถานที่ซึ่งลูกค้ากำหนด โดยในใบสั่งซื้อจะระบุราคาเป็นค่าสินค้า ไม่ชี้เฉพาะแยกในการส่งมอบติดตั้งค่ะ เช่นนี้จะเข้าลักษณะสัญญาซื้อขายหรือเปล่าค่ะ (บางกรณีมีแยกเป็นค่าติดตั้ง) เช่นนี้

หากไม่มีการผลิตเฟอร์นิเจอร์มาตรฐานไว้เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าทั่วไป ตามกรณีตัวอย่างที่ยกมา ถือได้ว่าบริษัทฯ รับจ้างผลิตเฟอร์นิเจอร์

โดยข้อความที่กล่าวว่า “…สั่งก่อนแล้วจึงเริ่มผลิต และมีการส่งมอบติดตั้งสินค้าที่สถานที่ซึ่งลูกค้ากำหนด”

บริษัทฯ ต้องปิดอากรแสตมป์บนสัญญารับจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ และกรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น บริษัทฯ ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของเงินได้

หากบริษัทฯ ประสงค์จะเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายเป็นปกติธุระ ก็ต้องพยายามดำเนินการตัวอย่างแนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากรดังกล่าวข้างต้น

เพจท่านอาจารย์สุเทพ - ขายดิน บริการถมดิน --- การจัดทำสัญญาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของกิจการเพื่อป้องกันผลกระทบของภาษีหัก ณ ที่จ่ายกับราคาสินค้า-(ควรอ่าน)

คุณนิดา “Nida Prapasrianan” ได้โพสต์ไปในไทม์ไลน์ “สุเทพ พงษ์พิทักษ์” เมือ 15 ตุลาคม 2556 ว่า
“เรียน อาจารย์สุเทพ


ขอสอบถามเรื่องการหักภาษี ณที่จ่าย


ดิฉันรับงานถมดินโดยมีรายละเอียดในเอกสารเสนอรายละเอียดและราคาดังนี้ค่ะ


1. ราคาดินเป็นปริมาณราคาสำหรับคิวหลวมคิดราคาดินตามพื้นที่ดินเป็นจำนวนเงิน 1,400,000.00บาท


2. ราคาจ้างบดอัด 4 ช้นบดด้วยรถบดราค่าค่าจ้างบดอัด 280,000.00บาท


ตามที่ตกตลงกันไว้กับผู้ว่าจ้างให้หักภาษีณที่จ่ายข้อ 2 ไว้ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่พองานเสร็จจะรับเงินค่าจ้างผู้ว่าจ้างจะหักทั้งหมด 3 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้มาตรา 40 (8) เป็นข้อบังคับ


ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยตอบข้อบังคับกฏหมายภาษีณที่จ่ายให้เข้าใจด้วยคะ และดิฉันควรจะแยกใบรับเงินเป็น 2 ใบใช่หรือไม่ค่ะ
ขอขอบพระคุณค่ะ
นิดา / ผู้ติดตามอาจารย์เรื่องภาษีค่ะ

 

เรียน คุณนิดา
การรับจ้างถมดิน ในเบื้องต้น ถือเป็นการให้บริการจ้างทำของที่คำนึงถึงผลสำเร็จของงาน เช่นเดียวกับสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างทั่วไป

อย่างไรก็ตาม หากคู่สัญญามีความมุ่งหมายที่จะทำสัญญาขายดินอันเป็น “สินค้า” ตามนัยมาตรา 77/1 (9) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และชอบที่จะแยกค่าบริการบดอัดต่างหากจากราคาสิินค้า คือ “ดิน” ในทำนองเดียวกับการขายเสาเข็มตอก โดยมีการให้บริการตอกให้ด้วย


“บริษัทขายเสาเข็ม พร้อมทั้งให้บริการตอกเสาเข็ม โดยได้แยกราคาสินค้า และค่าบริการออกจากกัน ดังนั้น เฉพาะค่าบริการ ที่แยกออกจากราคาสินค้า เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำของ จึงอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528… (หนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.2407 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2537)”

กรณีทำ “สัญญาขายดิน”


1. หากไม่แยกค่าตินและค่าถมหรือบดอัด ออกต่างหากจากกัน ก็ถือเป็นการขายทั้งจำนวน ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นทันทีที่ได้มีการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า แต่ไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

2. หากแยกค่าบดอัดออกจากค่าดิน ไม่ว่าจะแยกรายการในเอกสารฉบับเดียวกัน หรือแยกออกเป็นเอกสารคนละฉบับกัน เฉพาะค่าบริการติดตั้งหลังคาอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และต้องปิดอากรแสตมป์ในส่วนของมูลค่าจ้างบดอัด โดยถือเป็นการจ้างทำของนั้นด้วย

กรณีทำสัญญา “รับจ้างถมดิน”


ไม่ว่าจะแยกค่าดินและค่าบดอัดออกจากกันหรือไม่ ถือเป็นการให้บริการ อยู่ในบังคับตที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ทั้งจำนวน และต้องปิดอากรแสตมป์เต็มมูลค่าตามสัญญานั้นด้วย

การหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีซื้อขายแอร์ อะไหล่แอร์ พร้อมบริการติดตั้ง

คำถาม : บริษัท ก.จำกัด ซื้อขายแอร์ อะไหล่แอร์ พร้อมบริการติดตั้งแต่ออกใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี แยกค่าบริการติดตั้งต่างหาก บริษัทผู้จ่ายเงินได้จะหักภาษีอย่างไร หักค่าบริการอย่างเดียว หรือนำบิลมารวมกันแล้วหักภาษีรวม

คำตอบ : การขายสินค้าเช่น แอร์ พร้อมติดตั้ง ถ้าไม่แยกราคา กล่าวคือ

ใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี ออกในราคารวมกันถือเป็นการขายสินค้าบริษัทผู้จ่ายเงิน ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

แต่ถ้าแยกรายการเป็นค่าสินค้า (ค่าแอร์) และค่าติดตั้งออกจากกัน ค่าแอร์ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ส่วนค่าติดตั้งถือเป็นค่าจ้างทำของต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

ส่วนค่าอะไหล่ หากบริษัทได้ซ่อมแอร์และจ่ายค่าซ่อมแซมรวมกับค่าอะไหล่ ไม่ว่าจะแยกค่าอะไหล่และค่าแรงออกจากกัน หรือผู้รับจ้างเรียกเก็บเฉพาะค่าอะไหล่ ถือว่าบริษัทได้จ่ายค่าจ้างทำของให้แก่ผู้รับจ้าง บริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของค่าซ่อมแซมและค่าอะไหล่ ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง กค 0702/9274 10 พฤศจิกายน 2552

ข้อกฎหมาย : มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ

 

ข้อหารือ

 

  บริษัท ท. (บริษัทฯ) ประกอบกิจการขายสินค้าประเภทระบบลำเลียงสายพานและระบบควบคุมอัตโนมัติพร้อมบริการ ติดตั้งโดยสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ มาผลิตแล้วขายพร้อมติดตั้งให้แก่ลูกค้าตามขนาดและ มาตรฐานที่บริษัทฯ มีขายอยู่แล้วหรือขนาดต่างๆ ตามที่บริษัทฯ จะตกลงกับลูกค้า บริษัทฯ ขอทราบว่า ในการจ่ายเงินค่าสินค้า ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในกรณีใดบ้าง 
          1. กรณีขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง โดยมีการออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าพร้อมบริการติดตั้งรวมเป็น ยอดเดียวกัน 
          2. กรณีขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้งโดยการออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าและบริการติดตั้ง แยกออกเป็น 2 ฉบับ คือ ค่าสินค้าหนึ่งฉบับและค่าบริการติดตั้งหนึ่งฉบับ หรือออกใบกำกับภาษีเป็นฉบับเดียวกันแต่แยกเป็นสองรายการคือรายการ ค่าสินค้าหนึ่งรายการและค่าบริการติดตั้งอีกหนึ่งรายการ 
          3. กรณีขายสินค้าโดยมิได้ให้บริการติดตั้งหรือซ่อมแซมบำรุงรักษา 
          4. กรณีขายอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมบริการซ่อมแซมบำรุงรักษาโดยออกใบกำกับภาษี หรือใบแจ้งหนี้ค่าอุปกรณ์และบริการ ติดตั้งฉบับเดียวกัน แต่แยกราคาค่าอุปกรณ์และค่าบริการออกจากกัน

 

แนววินิจฉัย

 

1. กรณีตาม 1. การขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้งโดยออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าพร้อมบริการติดตั้งรวมเป็น ยอดเดียวกัน และกรณีตาม 3. การขายสินค้าโดยมิได้ให้บริการติดตั้งหรือซ่อมแซมบำรุงรักษา ถือเป็นการขายสินค้า ผู้จ่ายเงินได้ ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
2. กรณีตาม 2. การขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง โดยออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าและค่าบริการติดตั้งแยกออก จากกันเป็น 2 ฉบับ คือ ค่าสินค้าหนึ่งฉบับและค่าบริการติดตั้งหนึ่งฉบับหรือออกใบกำกับภาษี ฉบับเดียวแต่แยกรายการคือสินค้า หนึ่งรายการและค่าบริการติดตั้งอีกหนึ่งรายการ เฉพาะค่าบริการที่แยกออกจากราคาสินค้า เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำของผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
3. กรณีตาม 4. การให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษา โดยออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ ค่าอุปกรณ์และบริการติดตั้งฉบับเดียวกันแต่แยกราคาค่าอุปกรณ์และค่าบริการออกจากกันเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำของ ผู้จ่ายเงินได้จะต้องหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย จากยอดรวมมูลค่าสินค้าและค่าซ่อมแซม โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวล รัษฎากร ประกอบกับข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

 

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายสินค้าพร้อมติดตั้ง กค 0702/9659 24 ธันวาคม 2557

ข้อหารือ

 

 บริษัท ซ. ได้ขอหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายสินค้าพร้อมติดตั้ง สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้ 
          1.บริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประกอบกิจการเกี่ยวกับการขายส่งและขายปลีกวัสดุก่อสร้าง พร้อมบริการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่เป็นปกติ ทั้งนี้ ในการขายสินค้าของบริษัทฯ ผู้ซื้อสามารถซื้อเฉพาะสินค้าของบริษัทฯ โดยไม่รับบริการติดตั้งจากบริษัทฯ ก็ได้ ผู้ซื้อสามารถจ้างบุคคลอื่นมาติดตั้งแทนและไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าพร้อมรับบริการติดตั้งจากบริษัทฯ 
          2.เนื่องจากในการทำสัญญาซื้อขายและติดตั้งระหว่างบริษัทฯ กับผู้ซื้อ การออกใบกำกับภาษีขายมิได้มีการระบุแยกรายการว่าเป็นราคาค่าสินค้าและเป็นค่าบริการจำนวนเท่าใด จึงทำให้เกิดปัญหาในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย บริษัทฯ จึงขอหารือในกรณีดังนี้ 
               2.1 ถ้าบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีขายโดยแยกรายการเป็นค่าสินค้าและค่าบริการออกจากกัน ราคาสินค้าที่แยกถือเป็นการขายสินค้า ผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ถูกต้องหรือไม่ 
               2.2 ถ้าบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีขายโดยมิได้แยกรายการค่าสินค้าออกจากค่าบริการ คือ รวมเป็นราคาเดียว เช่นนี้จะถือว่าเป็นการขายหรือเป็นการให้บริการ และผู้จ่ายเงินจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายได้หรือไม่

 

แนววินิจฉัย

 

 1.กรณีตาม ๒.๑ หากบริษัทฯ ขายวัสดุก่อสร้างและวัสดุเคมีภัณฑ์พร้อมบริการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยการออกใบกำกับภาษีได้แยกมูลค่าของสินค้าและของบริการออกจากกัน ไม่ว่าด้วยการออกใบกำกับภาษีเป็นสองฉบับและแยกมูลค่าของสินค้าและของบริการออกจากกัน หรือออกใบกำกับภาษีฉบับเดียวแต่แยกมูลค่าของสินค้าและของบริการก็ตาม เมื่อผู้ซื้อชำระค่าสินค้าและค่าบริการ ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าสินค้า แต่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ ๓.๐ สำหรับค่าบริการติดตั้ง ตามมาตรา ๓ เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ ๘ ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๔/๒๕๒๘ เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๘ 
          2.กรณีตาม ๒.๒ หากบริษัทฯ ขายวัสดุก่อสร้างและวัสดุเคมีภัณฑ์พร้อมบริการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยในการออกใบกำกับภาษีได้รวมมูลค่าของสินค้าและของบริการ เป็นราคาเดียวกัน ถือว่าเป็นการขายสินค้า และเมื่อผู้ซื้อชำระค่าสินค้า ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๓ เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๔/๒๕๒๘ฯ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๘

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีขายสินค้าพร้อมให้บริการอย่างไร

ถือเป็นการขายสินค้าทั้งจำนวน เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้จ่ายชำระค่าสินค้าดังกล่าว จึงไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน 2528 เช่น

ใบกำกับภาษีออกยอดรวม (สินค้า + บริการ) – ขาย ไม่มีหัก



(1) บริษัทฯ ขายสินค้าโดยมีการให้บริการกับลูกค้าด้วย และบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีใน ราคาสินค้าและค่าบริการเป็นราคาเดียวกันถือเป็นการขายสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อผู้ซื้อชำระราคาค่าสินค้า บริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.13499 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2536)




ความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดเมื่อสงมอบ ไม่ใช้วันติดตั้งเสร็จ

(2) บริษัทฯ ทำสัญญาขายลิฟต์และบันไดเลื่อนพร้อมทั้งให้บริการประกอบติดตั้ง โดยมิได้แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการออกจากกัน ถือเป็นการขายสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีส่งมอบสินค้าตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ถือวันที่บริษัทฯ ผู้ขายส่งมอบลิฟต์หรือบันไดเลื่อนเป็นวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดเกิดขึ้นตามมาตรา 86 มิใช่วันที่บริษัทฯ ประกอบติดตั้งเสร็จและมีสิทธิได้รับชำระราคา และเนื่องจากถือเป็นการขายสินค้าเมื่อผู้ซื้อชำระราคาสินค้า บริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งของกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/พ.23430 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536)

ใบกำกับภาษีออกยอดรวม (สินค้า + บริการ) – ขาย ไม่มีหัก

(3) บริษัทฯ ประกอบกิจการขายอุปกรณ์ระบบโทรศัพท์และโทรสาร พร้อมทั้งบริการติดตั้งให้ลูกค้าด้วย โดยไม่แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการติดตั้งออกจากกัน เข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในข่ายต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/พ.3058 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2537 และที่ กค 0802/พ.20419 ลงวันที่ 11 กันยายน 2538)


(

ใบกำกับภาษีออกยอดรวม (สินค้า + บริการ) – ขาย ไม่มีหัก

4) บริษัทฯ ขายสีทาบ้าน โดยทาสีให้กับลูกค้าด้วย บริษัทฯ คิดค่าตอบแทน โดยไม่แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการออกจากกัน

กค 0702/36367 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง

ข้อหารือ

 

ริษัท ม. ประกอบกิจการผลิตเครื่องจักรและระบบลำเลียงสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมให้บริการติดตั้งแก่ลูกค้า ตามขนาดมาตรฐานที่บริษัทฯ ขายอยู่แล้วหรือตามขนาดต่าง ๆ ที่บริษัทฯ จะตกลงกับลูกค้า เช่น เครื่องคัดขนาดกุ้ง เครื่องต้มกุ้ง เครื่องล้างภาชนะผัก ผลไม้ เป็นต้น ต่อมาบริษัทฯ ได้เสนอขายเครื่องต้มกุ้งให้กับลูกค้ารายหนึ่ง โดยลูกค้าต้องการให้ติดตั้งไว้บน รถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อสามารถนำไปใช้งานนอกสถานที่ได้ บริษัทฯ จะต้องเป็นผู้จัดหารถบรรทุก 6 ล้อ พร้อมติดตั้งเครื่องต้มกุ้งบน รถดังกล่าวส่งมอบให้แก่ลูกค้าเครื่องต้มกุ้งที่ติดตั้งไว้สามารถขนย้ายขึ้นลงจากรถบรรทุก 6 ล้อ ได้ โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้ 
          1. บริษัทฯ ทำการผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก 
          2. บริษัทฯ ไม่ได้ประกอบกิจการขายรถบรรทุก 6 ล้อ 
               -รถบรรทุก 6 ล้อ ราคา 1,350,000 บาท 
               -เครื่องต้มกุ้งพร้อมอุปกรณ์ราคา 2,486,000 บาท 
               -โครงสร้างเพื่อรองรับเครื่องต้มกุ้งราคา 1,300,000 บาท 
          3. การขายเครื่องต้มกุ้งพร้อมติดตั้งบนรถบรรทุก 6 ล้อ ถือเป็นการขายสินค้า หรือจ้างทำของ ซึ่งลักษณะการติดตั้งบนรถบรรทุก 6 ล้อ ที่มีโครงสร้างเพื่อรองรับเครื่องต้มกุ้ง รูปแบบการติดตั้งเพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวกในการใช้งาน 
          บริษัทฯ ขอหารือว่า การขายเครื่องต้มกุ้งพร้อมรถบรรทุก 6 ล้อ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่

 

แนววินิจฉัย

 

  1. สัญญาซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินให้แก่ผู้ขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
          2. สัญญารับจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานที่ทำนั้น ตามมาตรา 587 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
          3. การพิจารณาชนิดของสัญญา จะไม่พิจารณาตามชื่อที่คู่สัญญาระบุไว้แต่พิจารณาตามเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญา ซึ่ง อาจปรากฏจากข้อความตอนหนึ่งตอนใดในสัญญาหรือปรากฏจากทางปฏิบัติของคู่สัญญาก็ได้ การซื้อขายและการรับจ้างทำของ จึงต่างกันที่การซื้อขายมุ่งถึงการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ส่วนการรับจ้างทำของมุ่งถึงการทำงานและผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ซึ่งผลสำเร็จของงานอาจปรากฏออกมาเป็นทรัพย์สิ่งของหรือไม่ก็ได้ เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2520 โจทก์ทำเสาไฟฟ้า คอนกรีตอัดแรงส่งแก่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สัญญาที่โจทก์ทำกับการไฟฟ้าทั้งสองระบุว่าเป็นหนังสือสัญญา ซื้อขาย ข้อความในหนังสือสัญญาแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามีเจตนามุ่งจะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เพื่อตอบแทนการใช้ราคา มิใช่มุ่งหวังในผลสำเร็จในการงาน แม้ข้อความในสัญญาจะได้กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะของทรัพย์ที่จะต้องส่งมอบว่าจะต้อง เป็นไปตามแบบและรายการแนบท้ายสัญญาก็เห็นได้ว่าเป็นการกำหนดรายละเอียดไว้เป็นเงื่อนไขในการรับซื้อ สัญญาดังกล่าว จึงเข้าลักษณะสัญญาซื้อขาย หาใช่สัญญาจ้างทำของไม่ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2169 – 2170/2534 วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ขายคอนกรีตผสมเสร็จให้ลูกค้าโดยผสมตามสูตรและอัตราส่วนของลูกค้านั้นเป็นสัญญาซื้อขายเพราะคู่สัญญามิได้หวังผลสำเร็จใน การงานอันเป็นสาระสำคัญที่จะให้เป็นสัญญาจ้างทำของ 
          4. การพิจารณาสัมภาระกับการงานที่รับทำจนสำเร็จนั้นสิ่งไหนสำคัญกว่ากันในเรื่องสัญญาซื้อขายกับสัญญาจ้างทำของ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2530 ได้วินิจฉัยข้อแตกต่างระหว่างการซื้อขายและการรับจ้างทำของนั้น หาได้อยู่ที่เจตนาและ กริยาของคู่กรณีที่ประพฤติต่อกันแต่ประการเดียวไม่ แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า สัมภาระกับการงานที่รับทำจนสำเร็จนั้นสิ่งไหน สำคัญกว่ากัน ถ้าการงานที่รับทำจนสำเร็จสำคัญกว่าสัมภาระก็เป็นรับจ้างทำของ แต่ถ้าไม่สำคัญกว่าก็เป็นการซื้อขาย 
          5. มื่อพิจารณาข้อเท็จจริงหากปรากฏว่า การขายเครื่องต้มกุ้งพร้อมรถบรรทุก 6 ล้อ บริษัทฯ ต้องดำเนินการสร้าง โครงสร้างตู้ปีกนกที่ติดตั้งเพิ่มเติมบนรถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อรองรับเครื่องต้มกุ้งพร้อมอุปกรณ์ โดยมีการออกใบกำกับภาษี 3 ฉบับ ค่ารถบรรทุก 6 ล้อ 1 ฉบับ ราคา 1,350,000 บาท เครื่องต้มกุ้ง 1 ฉบับ ราคา 2,486,000 บาท และค่าบริการติดตั้ง โครงสร้างตู้ปีกนกที่ติดตั้งเพิ่มเติมบนรถบรรทุก 6 ล้อ อีก 1 ฉบับ เป็นจำนวนเงิน 1,300,000 บาท หรือออกใบกำกับภาษี ฉบับเดียวแต่แยกรายการคือค่าสินค้าเป็นสองรายการและค่าบริการติดตั้งอีกหนึ่งรายการ เฉพาะค่าบริการติดตั้งที่แยกออก จากราคาสินค้าเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำของ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายโดยคำนวณหักไว้ ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

กค 0811/3491 กรณีการผลิตสินค้าเพื่อขายและการผลิตสินค้าตามคำสั่งลูกค้า

ข้อหารือ

บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการผลิตสติกเกอร์ขนาดมาตรฐานเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั่วไป และ
บางกรณีจะผลิตตามคำสั่งของลูกค้าโดยพิมพ์ตรา ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าตามขนาดของผลิตภัณฑ์ของ
ลูกค้าลงบนสติกเกอร์ บริษัทฯ ได้หารือดังนี้
1. กรณีบริษัทฯ ผลิตสติกเกอร์เพื่อขาย จะถือเป็นการผลิตหรือรับจ้างทำของ และจะต้องถูก
หักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
2. กรณีบริษัทฯ ผลิตสติกเกอร์ตามคำสั่งของลูกค้า โดยพิมพ์ตรา ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า
ของลูกค้าเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้า จะถือเป็นการผลิตหรือรับจ้างทำของ และจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
หรือไม่
3. กรณีบริษัทฯ ผลิตสติกเกอร์ตามคำสั่งของลูกค้า โดยพิมพ์ตรา ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า
ตามขนาดบรรจุภัณฑ์ของลูกค้า จะถือเป็นการผลิตหรือรับจ้างทำของ และจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
หรือไม่

แนววินิจฉัย

 

กรณีบริษัทฯ ผลิตสติกเกอร์เพื่อจำหน่ายเป็นการทั่วไปเป็นปกติอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะผลิตสติกเกอร์ ตามคำสั่งลูกค้าการจำหน่ายหรือการรับทำดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระราคา ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528
เรื่องสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่อย่างใด

กค 0811/พ.04900 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าบริการซ่อมและค่าอะไหล่

ข้อหารือ

 

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจนำเข้าเพื่อจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงาน เช่น เครื่องถ่ายเอกสารเครื่องโทรสารเครื่องพิมพ์ ฯลฯ เมื่ออุปกรณ์สำนักงานที่จำหน่ายขัดข้องลูกค้าจะโทรแจ้งบริษัทฯ ให้ส่งช่างไปซ่อม

โดยบริษัทฯ จะคิดค่าใช้จ่ายในการซ่อมเป็น 2 กรณี คือ


1. กรณีที่ซ่อมโดยไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีเมื่อได้รับชำระ
ค่าบริการซ่อมโดยคิดค่าบริการซ่อมครั้งละ 550 บาท


2. กรณีที่ซ่อมโดยต้องเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีแยกเป็น 2 ใบ ดังนี้

2.1 ใบกำกับภาษีสำหรับค่าบริการซ่อมครั้งละ 550 บาท

2.2 ใบกำกับภาษีสำหรับค่าอะไหล่ ออกให้เมื่อส่งมอบอะไหล่ให้แก่ ลูกค้า มิใช่เมื่อ
ซ่อมเสร็จหรือเมื่อได้รับชำระค่าอะไหล่
จึงขอทราบว่า บริษัทฯ ได้รับชำระค่าบริการซ่อมและได้รับชำระค่าอะไหล่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวบริษัทฯ ควรจะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

 

แนววินิจฉัย

 

กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว รายรับที่ได้จากการให้บริการ ไม่ว่าจะคิดค่าบริการซ่อมเป็นการเหมาหรือแยกค่าบริการเป็นค่าบริการซ่อมและค่าอะไหล่ การประกอบกิจการดังกล่าวถือเป็นการให้บริการรับจ้างซ่อมทั้งหมด หากผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น

ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้ที่จ่าย ตามข้อ 8 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.253

กค 0811/7660 ภาษีเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีการให้บริการซ่อมรถยนต์

ข้อหารือ

 

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อขาย และมีพนักงานขายของบริษัทฯ เอง บริษัทฯ มีปัญหาเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้ 


1. กรณีค่าซ่อมรถ พนักงานขายของบริษัทฯ ได้นำรถยนต์ของบริษัทฯ เข้าซ่อมที่ ต่างจังหวัด ตามศูนย์บริการของอีซูซุและโตโยต้า เมื่อซ่อมแล้วทางศูนย์บริการออกบิลค่าซ่อมและ ค่าอะไหล่แยก ออกจากกันแต่เป็นชื่อบริษัทเดียวกัน บริษัทฯ จะต้องหักภาษีณ ที่จ่ายจากบิลยอดไหน อย่างไร 

2. จากกรณีข้อ 1 ถ้าศูนย์บริการคิดแต่ค่าอะไหล่อย่างเดียว ไม่มีค่าแรง จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไร

 

แนววินิจฉัย

 

1. การที่บริษัทฯ ได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์บริการ O และ G ในต่างจังหวัด เมื่อซ่อมแล้ว ศูนย์บริการได้ออกบิลค่าแรงและค่าอะไหล่แยกออกจากกัน แต่เป็นชื่อบริษัทเดียวกัน กรณีนี้ถือได้ว่า ศูนย์บริการผู้รับจ้างประกอบกิจการรับจ้างซ่อมรถยนต์ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ

 

เมื่อศูนย์บริการฯ เป็นผู้จัดหาอะไหล่เพื่อใช้สำหรับการซ่อมรถยนต์เอง รายรับของศูนย์บริการฯ จึงต้อง รวมทั้งค่าแรงและค่าอะไหล่ เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าบริการซ่อมรถยนต์ให้แก่ศูนย์บริการฯ บริษัทฯ จึงมี หน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของยอดเงินที่จ่ายทั้งที่เป็นค่าแรงและค่าอะไหล่ ทั้งนี้ ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตาม 
มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่ง 
แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2530 

 

2. กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าศูนย์บริการฯ เรียกเก็บค่าอะไหล่อย่างเดียว โดยไม่มี การเรียกเก็บค่าแรงด้วย บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของ ยอดเงินที่จ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

การติดอากรแสตมป์ กับสัญญาบริการสัญญาที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด

Inbox: พุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 10:21 น.
กัมพล วิลัยพร
ขออนุญาตรบกวนสอบถามท่านอาจารย์สุเทพครับ

หากมีการทำสัญญาให้บริการโดยเป็นสัญญาที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญา (ทางปฏิบัติอาจจะเป็นไปได้ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี)

ซึ่งตามกฎหมายเรื่องอากรถือว่าเป็นตราสารประเภท 4 และให้ประมาณจำนวนสินจ้างตามสมควรเพื่อเสียอากร

กรณีนี้ ถ้าเราประมาณสินจ้างคราวละปีต่อปี แล้วยื่นเสียอากรปีละครั้ง (ก่อนรอบการให้บริการในแต่ละปี) จะสามารถกระทำได้ไหมครับ โดยใช้สัญญาฉบับเดิมไปยื่นเสียตั้งแต่คราวที่ 2 เป็นต้นไป เนื่องจากไม่จำเป็นต้องทำหนังสือต่อท้ายสัญญาใหม่เพื่อต่ออายุสัญญาในแต่ละปีครับ

ขอขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:

ตามหมายเหตุท้ายสักษณะตราสารที่ 4 จ้างทำของกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับกรณีที่ “ถ้าในเวลากระทำสัญญาจ้างทำของไม่ทราบจำนวนสินจ้างว่าเป็นราคาใด ไว้ดังต่อไปนี้
หมายเหตุ

(1) ถ้าในเวลากระทำสัญญาจ้างทำของไม่ทราบจำนวนสินจ้างว่าเป็นราคาใด ให้ประมาณจำนวนสินจ้างตามสมควรแล้วเสียอากรตามจำนวนสินจ้างที่ประมาณนั้น

(2) ถ้ามีการรับเงินสินจ้างเป็นคราว ๆ และอากรที่เสียไว้เดิมยังไม่ครบ ให้เสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องเสียทุกครั้งในทันทีที่มีการรับเงิน

การทำสัญญาให้บริการโดยเป็นสัญญาที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญา (ทางปฏิบัติอาจจะเป็นไปได้ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี) ซึ่งตามกฎหมายเรื่องอากรถือว่าเป็นตราสารประเภท 4 และให้ประมาณจำนวนสินจ้างตามสมควรเพื่อเสียอากร โดยต้องประมาณการตลอดอายุสัญญา โดยไม่สามารถประมาณสินจ้างคราวละปีต่อปี

เว้นแต่ กรณีทำสัญญาจ้างทำของเป็นรายปี แล้วยื่นเสียอากรปีละครั้ง (ก่อนรอบการให้บริการในแต่ละปี) จะสามารถกระทำได้โดยใช้สัญญาฉบับเดิมไปยื่นเสียตั้งแต่คราวที่ 2 เป็นต้นไป โดยจำเป็นต้องทำหนังสือต่อท้ายสัญญาใหม่เพื่อต่ออายุสัญญาในแต่ละปีครับ

 

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่นกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด
สำนักงานใหญ่ TAX ID 0105561120432

Contact us

Post Views: 18,881

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า