Skip to content

เงินกู้ยืมกรรมการ

GET BETTER RESULTS before Rd

เงินกู้ยืมกรรมการ
ประเด็นความเสี่ยงของกิจการ
จากการเข้าตรวจสอบของสรรพากร

เงินกู้ยืมกรรมการ ประเด็นความเสี่ยงจากข้อผิดพลาดในงบการเงินที่เจ้าของกิจการต้องรู้เพราะนำมาจากการเข้าตรวจสอบกิจการของกรมสรรพากร ทุกประเภทกิจการได้สรุปรวมไว้ตามรายละเอียดด้านล่าง สำนักงานรวบรวมข้อมูลไว้เพื่อลูกค้า ทีมงาม ปรับปรุงความรู้ ข้อสังเกตต่างๆ เพื่อแนะนำจัดทำงบการเงินที่ถูกต้อง ปรับปรุงค่าใช้จ่ายต้องห้าม ค่าใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องออกจากงบการเงิน เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อย่างถูกต้อง

ข้อผิดพลาดในงบดุล ( Balance  Sheet  Errors )

 หมายถึง  ข้อผิดพลาดที่มีผลกระทบต่อบัญชีสินทรัพย์  หนี้สิน  และทุน  อันเกิดจากการจำแนกประเภทบัญชีผิด  เช่น  การจัดจำแนกลูกหนี้การค้าระยะสั้นเป็นเงินลงทุนระยะสั้น  หรือการจัดตั๋วเงินจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายหรือการจัดสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนอื่น  ข้อผิดพลาดดังกล่าวนี้  จะต้องรายการแก้ไขปรับปรุงบัญชีให้ถูกต้องทันทีเมื่อตรวจพบ

ข้อผิดพลาดในงบกำไรขาดทุน ( Income  Statement  Errors ) 

หมายถึง  ข้อผิดพลาดที่มีผลกระทบต่อบัญชีรายได้หรือค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการจำแนกประเภทบัญชีผิด  เช่น บันทึกค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าให้ลูกค้าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร  หรือบันทึกรายได้จากดอกเบี้ยรับเป็นรายได้จากการขาย  ข้อผิดพลาดในการจำแนกรายการในงบกำไรขาดทุนผิดจะไม่มีผลกระทบต่องบดุลและงบกำไรขาดทุน  ดังนั้น  ถ้าหากเป็นข้อผิดพลาดของปีก่อที่ได้ปิดบัญชีไปแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องลงรายการแก้ไขปรับปรุงเมื่อตรวจพบ  แต่ถ้าหากเป็นข้อผิดพลาดของปีปัจจุบันระหว่างปี  ก็จำเป็นต้องรายการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องทันทีเมื่อตรวจพบ

ข้อผิดพลาดที่กระทบทั้งงบดุลและงบกำไรขาดทุน ( Balance  Sheet  and  Income  Statement  Effect )

หมายถึง  ข้อผิดพลาดที่มีผลกระทบต่อบัญชีสินทรัพย์ หรือ หนี้สิน หรือ ทุน  และกระทบต่อรายได้หรือค่าใช้จ่าย  เช่น  มิได้บันทึกรายได้หรือค่าใช้จ่าย เช่น มิได้บันทึกรายได้ค้างรับ ณ วันสิ้นงวดการบัญชี  ผลของความผิดพลาดนี้จะทำให้รายได้ของงวดต่ำไป  ซึ่งเป็นผลทำให้กำไรสุทธิของงวดต่ำไป  และทำให้สินทรัพย์มีจำนวนต่ำไปด้วย 

เงินกู้ยืมกรรมการ
เงินกู้ยืมกรรมการ : ลูกหนี้ / เจ้าหนี้ เงินกู้ยืมกรรมการ
ที่มา - เอกสารประกอบการบรรยาย “ประเด็นความเสี่ยงจากการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร” ที่จัดทำและเผยแพร่โดย กองมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร

รายการเงินสดอยู่ในการครอบครองของกรรมการทั้งจำนวนหรือจำนวนมาก โดยไม่มีรายการเงินฝากสถาบันการเงิน อาจถือเป็นการให้กรรมการกู้ยืมเงิน โดยไม่คิดดอกเบี้ย

กิจการไม่มีการกระทบยอดรายการเงินสด

กิจการใช้เงินสดในการชำระรายการค้าทุกรายการ หรือบันทึกรายการด้วย บัญชีเงินสดทั้งหมด

กิจการมีการตั้งวงเงินสดย่อยเพื่อใช้ในจำนวนที่สูงมาก และหลักฐานการเบิก ชดเชยเงินสดย่อยมีเพียงใบเสร็จรับเงินหรือบิลเงินสด หรือหลักฐานการเบิกจ่ายที่กิจการทำขึ้นเท่านั้น

กิจการมีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นจำนวนสูง โดยอาจเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีตัวตน หรือเป็นยอดเงินให้กู้ยืมที่ไม่ได้นำมาแสดงไว้ในงบการเงิน ซึ่งอาจแสดงให้เห็น ได้ว่า กิจการมีการแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

กิจการไม่มีเงินให้เงินกู้ยืมกรรมการจริง แต่มีรายการดังกล่าวแสดงในงบการเงิน

กิจการมีเงินให้เงินกู้ยืมกรรมการ แต่ไม่มีรายการดอกเบี้ยรับ

กิจการมีการให้เงินกู้ยืมกรรมการเงินจากปีที่ผ่านมา แต่คำนวณดอกเบี้ยรับ ณ วันสิ้นปี

กิจการมีสินค้าคงเหลือสูงหรือต่ำกว่าข้อเท็จจริง (สินค้าขาด/เกิน)
รายงานสินค้าคงเหลือของกิจการไม่ตรงกับสินค้าที่มีอยู่จริง
กิจการไม่มีผลิตภัณฑ์พลอยได้ ของเสีย ของมีตำหนิ และเศษซากคงเหลือในรายงานสินค้าและวัตถุดิบ และไม่มีการออกใบกำกับภาษีขาย

งบการเงินไม่แสดงรายการสินทรัพย์ในการประกอบกิจการ หรือสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดรายได้ของกิจการ 

กิจการแสดงสินทรัพย์ในบัญชีสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง 

กิจการมีการเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี หรือกิจการใช้วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาตามนโยบายการบัญชี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตาม ประมวลรัษฎากร 

กิจการบันทึกสินทรัพย์ที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ หรือลิสซิ่ง ไม่สอดคล้องกับ หลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากร

กิจการมีรายการดังกล่าว แต่ไม่แสดงในงบการเงิน โดยใช้การหักกลบลบกันกับรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด

 รายการเจ้าหนี้การค้าสูง ซึ่งอาจเป็นเจ้าหนี้การค้าที่ไม่มีตัวตน อาจแสดงว่ากิจการแสดงรายการไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

 รายการเจ้าหนี้การค้าต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่บันทึกรายการซื้อที่เกิดขึ้น

 กิจการไม่มีเงินกู้ยืมกรรมการจริง ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่ากิจการแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

 กิจการมีรายการค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง หรือไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

กิจการแสดงมูลค่าทุนจดทะเบียนไว้ครบตามจำนวน แต่จากข้อเท็จจริงกิจการได้รับชำระค่าหุ้นไม่ครบ และไม่ได้รับรู้เป็นลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระ รวมทั้งไม่ได้คิดดอกเบี้ย

รายได้ที่แสดงในงบการเงินไม่สัมพันธ์กับต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจแสดงได้ว่า 

กิจการบันทึกรับรู้รายได้ไม่สอดคล้อกับสภาพข้อเท็จจริง

กิจการมีรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (out of vat scope) แต่ไม่นำมาบันทึกเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการ

กิจการมีรายได้จากการส่งเสริมการขาย แต่ไม่ได้รับรู้เป็นรายได้

กิจการมีรายได้ค่าโฆษณาจากการแลกเปลี่ยนการให้บริการระหว่างกัน แต่ไม่ได้รับรู้เป็นรายได้ของกิจการ (Barter)

กิจการมีการขายผลิตภัณฑ์พลอยได้ หรือของเสียจากกระบวนการผลิตแต่ไม่รับรู้เป็นรายได้

กิจการมีการจำหน่ายสินทรัพย์ แต่ไม่รับรู้กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์

กิจการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ตัดเป็นหนี้สูญแล้ว แต่ไม่ได้รับรู้เป็นรายได้

กิจการได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัย แต่ไม่ได้รับรู้เป็นรายได้

กิจการมีการให้ส่วนลดแก่ลูกค้าสูงเกินกว่าความเป็นจริงหรือธรรมเนียมปกติทางการค้า

กิจการบันทึกรายการซื้อสินค้าสูง/ต่ำกว่าข้อเท็จจริง

กิจการมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแต่มีรายได้ที่ลดลง

กิจการไม่มีการปันส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุน เช่น บันทึกค่าใช้จ่ายของพนักงานทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายในรอบบัญชีนั้น

กิจการมีรายการค่านายหน้า ค่าส่งเสริมการขาย ค่าใช้จ่ายพนักงานสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของกิจการ

กิจการมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าแรง ค่านายหน้า ค่าขนส่ง ค่าที่ปรึกษา

กิจการบันทึกค่าซ่อมแซมที่มีจำนวนสูงเป็นสินทรัพย์ของกิจการ หรือ

กิจการบันทึกค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาเป็นต้นทุนของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่าย

กิจการบันทึกค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้องตามรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ได้ปรับปรุงเป็นรายการค่าใช้จ่ายค้างจ่ายไว้ เช่น ค่าน้ า ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ หรือไม่ได้ปรับปรุงเป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า เช่น ค่าประกันภัย

กิจการบันทึกดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการได้มาซึ่งสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในรอบ

เงินกู้ยืมกรรมการ - ลูกหนี้เงินกู้ยืม

     ประเด็นความเสี่ยง เงินกู้ยืมกรรมการในส่วนที่ต้องระมัดระวัง คือ เงินของกิจการที่ให้เจ้าของกิจการกู้ยืม  เช่นเงินทุนของบริษัท (งบเปล่า) การปรับปรุงตัวเลขทางบัญชีที่ไม่สามารถหาที่มีที่ไปได้เข้าบัญชีนี้  ตามข้อกำหนดที่ 

มาตรา 65 ทวิ (4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงินฃ

 

เงินกู้ยืมกรรมการ - ที่มาที่ไป

ทุนจดทะเบียน

ทุนกำหนดไว้มาก(ตัวเลขในหนังสือรับรอง) แต่เงินสดจริงๆ ที่เอามาลงน้อยมาก เช่น ทุน 5 ล้าน เงินสดจ่ายค่าหุ้น 50,000 บาท

ค่าใช้จ่ายไม่มีหลักฐาน / ถอนใช้ส่วนตัว

ค่าใช้จ่ายไม่มีหลักฐาน / ถอนใช้ส่วนตัว ไม่มีบิลมาให้ หรือมีใบเสร็จ/ใบกำกับภาษี บัญชีไม่ให้เบิก หรือให้เบิก แต่เจ้าของไม่ให้บวกกลับ

ประเด็นความเสี่ยงในปี 2563 ต้องระวังคือ กรมสรรพากรมีแนวทางตรวจสอบ
รายการนี้อย่างเคร่งครัด

 
โดยให้ความสนใจใน 2 ประเด็นความเสี่ยงนี้คือ
 

1.  ธุรกิจแสดงรายได้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง มีค่าใช้จ่ายหัก หรือยอดซื้อ ที่เบิกเงินแล้วแต่ไม่นำมาลงบัญชี  –  เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง แล้วมาบันทึกในบัญชีลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการแทน

หรือ มีรายได้รับเงินเข้าบัญชีจำนวนมากแต่ไม่ต้องการรับรู้รายได้ ยื่น ภงด 50 และ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภพ 30 กิจการจึงถอนเงินออกจากบัญชี

หรือ การเบิกถอนไปใช้ส่วนตัวของกรรมการ / ผู้ถือหุ้น เพราะไม่ต้องการจ่ายปันผล ซึ่งจะต้องมีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย อัตราร้อยละ 10

2. เรื่องการให้กู้ยืม ต้องมีการคิดดอกเบี้ย ตามอัตราราคาตลาด และต้องดูด้วยว่าแหล่งของการกู้ยืมเงินมาจากไหน และมีหลักฐานของการกู้หรือไม่ ต้องการรายการโอนเข้าบัญชีเงินฝากของกรรมการ หรือ สำเนาเช็คจ่ายเงินให้กรรมการ เพื่อพร้อมพิสูจน์ให้ทางเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันจริงไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือสาเหตุอื่นที่มิชอบด้วยกฎหมาย – อ่านต่อ กรรมการกู้ยืมเงินแทนนิติบุคคล ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายกิจการได้หรือไม่

อัตราดอกเบี้ย เงินกู้ยืมกรรมการ เพื่อรับรู้รายได้

อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

กิจการไม่มีเงินกู้ยืม มีเงินฝากธนาคาร ไม่ได้ฝาก แต่ให้กรรมการกู้

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้

กิจการไม่มีเงินต้องไปกู้ยืมเงินมาให้กรรมการกู้อีกทอด อัตราดอกเบี้ยที่รับรู้ต้องไม่ต่ำกว่าที่ไปกู้มา

การบันทึกรับรู้รายได้ดอกเบี้ย เงินกู้ยืมกรรมการ มี 2 วิธี

บันทึกรายการจริง เสมือนรายการเกิดจริง

บันทึกดอกเบี้ยค้างรับ บันทึกดอกเบี้ยรับ รายการเกิดขึ้นจริง ปรากฎในงบกาiเงิน เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตอนได้รับเงินกิจการต้องเสียภาษีธุรกิจ เฉพาะ (สรรพากรชอบ เพราะชัดเจน เข้าใจง่าย)

ปรับปรุงรายการในแบบภงด 50

ไม่มีการบันทึกรายได้ค้างรับ และรายได้ในงบการเงิน ไม่ปรากฎรายการใดๆ ในงบการเงิน แต่ ในการยื่นภงด 50 จะบันทึกรายได้ที่ให้ถือเป็นรายได้ ในแบบภงด 50 วิธีนี้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่มีภาษีธุรกิจเฉพาะ

ข้อหารือภาษีอากร เงินกู้ยืมกรรมการ

เลขที่หนังสือ: กค 0811/05502

วันที่: 11 มิถุนายน 2542

เรื่อง: ภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการให้กู้ยืมเงิน

ข้อกฎหมาย: มาตรา 48, มาตรา 50, มาตรา 65 ตรี, มาตรา 91/2, มาตรา 104

ข้อหารือ: บริษัทฯ จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ แต่ปัจจุบันบริษัทฯ ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างมาก เพราะธนาคารพิจารณาปล่อยสิเชื่อให้กับบริษัทฯน้อยมาก ทำให้เป็นปัญหากับบริษัทฯ อย่างยิ่ง บริษัทฯ จึงหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยแจ้งให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทฯกรรมการของบริษัทฯ และพนักงานของบริษัทฯ ว่ถ้าบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้มีเงินของตนเอง หากประสงค์จะให้บริษัทฯ กู้ยืม บริษัทฯ ก็พร้อมที่จะกู้ยืมโดยให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.0 ต่อปี และบริษัทฯ จะจ่ายดอกเบี้ยให้เป็นรายเดือน แต่มเงื่อนไขว่าเงินที่บุคคลต่าง ๆ เหล่านั้นนำมาให้บริษัทฯ กู้ จะต้องเป็นเงินของตนเองเท่านั้น จะนเงินของคนอื่นมารวมให้กู้ด้วยไม่ได้เป็นอันขาด และในการกู้ยืมดังกล่าว บริษัทฯ จะทำสัญญากู้ยืมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทุกคน ขอทราบว่า

1. ในกรณีที่บริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยให้กับบุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินไดบุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายหรือไม่ ถ้าต้องหักจะต้องหักในอัตราใด

2. บุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าว จะมีสิทธิเลือกไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับจากบริษัทฯ มารวมยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีตอนสิ้นปีได้หรือไม่

3. การที่บุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าว นำเงินของตนเองมาให้บริษัทฯ กู้ตามข้อเท็จจริงข้างต้นแลได้รับดอกเบี้ยจากบริษัทฯ เป็นรายเดือนจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ และถ้าบริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยให้ปีละครั้งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ ถ้าต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะผู้ให้กู้จะต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่

4. สัญญากู้ยืมจะต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่ และถ้าจะต้องปิดอากรแสตมป์จะต้องซื้ออากรแสตมป์มาปิดทับ หรือต้องเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน

5. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บริษัทฯ จ่ายกับผู้ให้กู้ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น กรรมการ และพนักงานของบริษัทฯ จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเสียภาษีได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

: 1. กรณีตาม 1 และ 2 บริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่บุคคลผู้ให้กู้ยืมบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15.0 ตามมาตรา 50 (2) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรและบุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าว มีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 48 (3) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตาม 3 การที่บุคคลธรรมดาผู้ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทฯ ได้นำเงินของตนเองมาให้บริษัทฯ กู้ยืมหากบุคคลดังกล่าวมิได้มีการประกอบอาชีพให้กู้ยืมเงินมาก่อน และการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวมิได้มีการหาเงินจากที่อื่นมาโดยการกู้ยืมอยู่ด้วย การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไมต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด

3. กรณีตาม 4 สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 5.แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยวิธีการปิดแสตมป์ทับเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน

4. กรณีตาม 5 บริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่บุคคลผู้ให้กู้ยืม หากเป็นการกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 62/27909

เลขที่หนังสือ : กค 0702/560
วันที่ : 21 มกราคม 2558
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม

ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร


ข้อหารือ บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนนิติบุคคล ทุนจดทะเบียน – บาท กรรมการของบริษัทมี 6 คน กรรมการผู้มีอำนาจ คือ นาย ฮ. ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทฯ สำนักงานใหญ่ บริษัทฯ ไม่มีสำนักงานสาขา และมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มวันที่ 1 เมษายนถึงวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2543 ประกอบกิจการประเภทให้บริการพิธีการศุลกากร freight forwarding ตัวแทนให้บริการขนส่ง ขนถ่ายสินค้า บริษัทฯ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี


แนววินิจฉัย

1.กรณีบริษัทฯ นำเงินทุนหมุนเวียนบางส่วน (เงินฝาก) ไปให้บริษัท B จำกัด ซึ่งถือหุ้นบริษัทฯ ร้อยละ 42.499 กู้ยืมเงินโดยมีการทำสัญญาและออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว P/N ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2550 จำนวน 1 ฉบับ มูลค่าเงินในตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 30,000,000 บาท บริษัท Bจำกัด ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว P/N เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในตั๋วสัญญาใช้เงิน หรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อเป็นผลตอบแทนให้แก่บริษัทฯ ตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทฯ สามารถดึงเงินออกทั้งจำนวน หรือบางส่วนได้เมื่อทวงถาม และการชำระคืนตั๋วสัญญาใช้เงินเผื่อเรียกจะชำระคืนภายในสองวันทำการ โดยบริษัทฯ ต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรโดยใช้แบบฟอร์มขอชำระคืนให้กับ บริษัท Bจำกัด กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริษัท Bจำกัด กู้ยืมเงิน หากการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวไม่มีดอกเบี้ย หรือมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมเงิน ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร


2.กรณีตามข้อเท็จจริงที่บริษัท ฯ แจ้งว่า เงินทุนหมุนเวียนบางส่วน (เงินฝาก) ที่บริษัทฯ นำไปให้บริษัท Bจำกัด กู้ยืมนั้น มีแหล่งที่มาจากการทำธุรกิจของบริษัทฯ เอง ในเบื้องต้นจึงมีประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาว่า บริษัทฯ ได้รับเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าวมาจากแหล่งเงินใด หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เงินทุนหมุนเวียนบางส่วน (เงินฝาก) ที่บริษัทฯ นำไปให้บริษัท Bจำกัด กู้ยืมนั้น เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ได้มาจากเงินทุนจดทะเบียนได้รับชำระมูลค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้น หรือเงินกำไรสะสมจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ ฯลฯ ถือเป็นกรณีบริษัทฯ นำเงินของบริษัทฯ ที่มีอยู่ไปให้บริษัท Bจำกัด กู้ยืมหากเงินทุนหมุนเวียนที่บริษัทฯ นำไปให้บริษัท Bจำกัด กู้ยืม เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ได้จากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหรือบุคคลภายนอก ฯลฯ เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ ถือเป็นกรณีบริษัทฯ นำเงินที่กู้ยืมมาจากบุคคลอื่นไปให้บริษัท Bจำกัด กู้ยืม


3.กรณีบริษัทฯ ให้บริษัท B จำกัด กู้ยืมเงิน บริษัทฯ ต้องคิดดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยที่ได้ตกลงกัน แต่ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด ในวันที่ให้กู้ยืมเงิน ดังนั้น

(1)กรณีบริษัทฯ นำเงินของตนที่มีอยู่ไปให้กู้ยืม อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับหรือควรจะได้รับ ให้คิดตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารประเภทเงินฝากประจำในเวลาที่มีการกู้ยืม
(2)กรณีบริษัทฯ นำเงินที่กู้ยืมมาจากบุคคลอื่นไปให้กู้ยืม อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับหรือควรจะได้รับ ให้คิดตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในวันที่ได้ให้กู้ยืมเงินที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเวลาที่บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินมาทั้งนี้ กรณีบริษัทฯ นำเงินไปให้กู้ยืม โดยไม่สามารถแยกแหล่งเงินทุนได้ว่ามาจากเงินของตนที่มีอยู่หรือเงินที่กู้ยืมมาจากบุคคลอื่น ให้คิดดอกเบี้ยที่ได้รับในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเวลาที่บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินมา

เลขตู้ : 78/39466

Inbox: 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 9:10 น.
Winitchakarn Kaewkanya

สวัสดีค่ะ อาจารย์ รบกวนสอบถามหน่อยค่ะ
ในงบการเงินของบริษัทฯ มีเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน (สินทรัพย์) ซึ่งไม่ได้ให้กู้ยืมเงินเป็นประจำ ถ้ามีดอกเบี้ยรับจากกรณีนี้ ต้องนำมารวมคำนวนเป็นรายได้ใน ภ.ง.ด.50 และต้องนำดอกเบี้ยรับไปยื่น ภ.ธ.40 ด้วยไหมคะ เพราะอ่านจากหลายแหล่งข้อมูลแล้ว บางแหล่งบอกว่าต้องยื่น ภ.ธ.40 บางแหล่งบอกว่าสามารถเลือกนำมาเป็นรายได้ตามประมวลโดยไม่ต้องยื่น ภ.ธ.40 รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยค่ะ
ขอบคุณค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:

กรณีในงบการเงินของบริษัทฯ มียอดเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน (สินทรัพย์) ซึ่งไม่ได้ให้กู้ยืมเงินเป็นประจำ

ถ้าเมื่อมีดอกเบี้ยรับจากกรณีนี้ บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวนเป็นรายได้ใน ภ.ง.ด.50 และต้องนำดอกเบี้ยรับไปยื่น ภ.ธ.40 ด้วย

เนื่องจากเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยื่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

โดยบริษัทฯ ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะเข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเป็นครั้งคราว

Inbox: พฤหัสบดี 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เวลา 10:05 น.
คุณ Golfforce Za

เรียนท่านอาจารย์สุเทพที่เคารพ

ขออนุญาตสอบถามกรณีที่เจอกิจการหนึ่งล้างรายการลูกหนี้เงินให้กู้ยืมกรรมการออกจากบัญชีเนื่องจากมียอดคงค้างอยู่

และต้องการจะปิดกิจการโดยล้างบัญชีคู่กับรายการรายจ่ายต้องห้าม โดยกล่าวว่าทางกิจการจะยกหนี้ให้กับทางกรรมการ

และจะมีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรให้หากต้องการ


อยากทราบว่าตามกรณีดังกล่าวกิจการสามารถทำแบบนี้ได้หรือไม่? และจะมีผลกระทบทางภาษีในประเด็นใดหรือไม่ครับ? และหากกิจการไม่ได้จะเลิกกิจการการล้างรายการตามที่กล่าวข้างต้นจะทำได้หรือไม่ครับ

ขอบพระคุณครับ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:

การยกหนี้ให้แก่ลูกหนี้ มีผลกระทบทางภาษีอากรดังนี้

1. ทางด้านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

….การยกหนี้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ ซึ่งไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 พ.ศ. 2534 จึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม กิจการต้องปรับปรุงบวกกลับในแบบ ภ.ง.ด.50 เนื่องจากไม่สามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ หากผลการปรับปรุงทำให้กิจการมีกำไรสุทธิทางภาษีอากร กิจการต้องเสี่ยภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิดังกล่าว ในทางตรงกันข้ามเป็นการลดยอดผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรลง

….กรณีเป็นการปรับปรุงเพื่อเลิกกิจการ การดำเนินการดังกล่าวเป็นผลให้กำไรสะสมของกิจการลดลง ทำให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับเงินปันผลลดลง หรือได้รับการคืนทุนน้อยลงไป แต่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือ ลูกหนี้ที่กิจการยกหนี้ให้ดังกล่าว (เอาเปรียบผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นๆ)

2. ทางด้านลูกหนี้

….การได้รับการยกหนี้ ถือเป็นการรับให้โดยเสน่หา เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องนำไปรวมคำนวนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษีทีได้รับเงินได้ เว้นแต่ เป็นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ผู้มีเงินได้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ตามมาตรา 42 (28) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

….“(28) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

Inbox: อาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 12:29 น.
อาจารย์ พละชัย ฟูเกียรติพงษ์ “Phalachai Fookaittiphong”

เรียน อาจารย์สุเทพ ที่เคารพ

เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากกำลังประสบกับปัญหา คือ

– เจ้าของกิจการนำเงินออกไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง (เอาออกไปใช้เฉยๆ) เพราะไม่เคย “จ่ายเงินปันผล” มาก่อนเลยในอดีต จึงทำให้กิจการมี “ลูกหนี้เงินกู้ยืมระยะยาวของบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน(กรรมการ)” จำนวนมาก เช่น 50 ล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่สรรพากร เข้าตรวจแนะนำ และให้บริษัทฯ คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งก็คือ 8% (ตามที่บริษัทฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงิน OD ให้กับธนาคาร)
– กิจการต้องการแก้ปัญหาเรื่อง “ดอกเบี้ยจากลูกหนี้เงินกู้ยืมฯ” แต่ผู้ถือหุ้น (กรรมการ) ไม่มี “เงินสด” เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้
– แต่กิจการก็มี “กำไรสะสม” อยู่จำนวนมากเช่นกัน เช่น 100 ล้านบาท

ดังนั้น กิจการจึงต้องการแก้ปัญหา โดยการนำเงินออกมาใช้อย่างถูกต้องด้วยการ “จ่ายเงินปันผล” ให้กับ “ผู้ถือหุ้น” (ซึ่งก็คือ กรรมการผู้ที่กู้ยืมเงินจากบริษัทฯ ไปนั่นเอง)
ปัญหาคือ บริษัทฯ ต้องการ “จ่ายเงินปันผล” จำนวน 50 ล้านบาท แต่ไม่มีเงินสด/เงินฝากเพียงพอ จึงคิดขั้นตอนว่า

ขั้นตอนที่ 1. ลูกหนี้เงินกู้ยืม ซึ่งก็คือกรรมการ นำเงิน 50 ล้านบาท มาใช้คืนบริษัทฯ
ขั้นตอนที่ 2. บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลให้กับ “ผู้ถือหุ้น” จำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งก็คือกรรมการคนเดียวกัน

แต่ทาง “บริษัทบัญชี” แจ้งว่า บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลเป็น “เงินสด” จำนวน 50 ล้านบาท โดยขาดหลักฐานพิสูจน์ว่ามีการจ่ายเงินดังกล่าวจริง คือ
– หลักฐานในการใช้คืนหนี้สินของลูกหนี้ (เงินเข้าบัญชีบริษัท)
– หลักฐานการจ่ายเงินปันผล (เงินออกจากบัญชีบริษัท)
นั้นไม่สามารถกระทำได้!

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และทำให้การบันทึกบัญชีเป็นไปอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน จึงขอเรียนสอบถามว่า

1. กรณีกิจการปันผลเป็น “เงินสด” จำนวนมาก เช่น จ่ายเงินปันผลจำนวน 50 ล้านบาท แต่ไม่มีเงินอยู่จริง เพราะว่า เงินของบริษัทฯ อยู่ในรูปของ “ลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ” สามารถทำได้หรือไม่ ถ้าได้ต้องทำอย่างไรครับ?

2. เพื่อแก้ปัญหานี้ กิจการสามารถ จ่ายเงินปันผลเป็น “ลูกหนี้เงินกู้ยืมฯ” ของบริษัทฯ ได้หรือไม่ ถ้าได้ต้องทำอย่างไรครับ?

3. หรือกิจการควรแก้ปัญหาโดย จ่ายเงินปันผลเป็น “ตั๋วเงินจ่าย” ซึ่งต้องมีการลงบัญชี และต้องมีหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีให้ผู้สอบบัญชีเชื่อถืออย่างไรบ้างครับ?
ผมเชื่อว่า คำตอบนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้กับกิจการจำนวนมากในประเทศไทยที่กำลังเจออยู่ในเวลานี้ครับ
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งครับ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:

กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ประสงค์จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น เพื่อให้กรรมการและผู้ถือหุ้นใช้คืนเงินยืม นั้น บริษัทฯ ต้องมีเงินสด จึงจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ โดยได้คิดขั้นตอนว่า

ขั้นตอนที่ 1. ลูกหนี้เงินกู้ยืม ซึ่งก็คือกรรมการ นำเงิน 50 ล้านบาท มาใช้คืนบริษัทฯ

ขั้นตอนที่ 2. บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลให้กับ “ผู้ถือหุ้น” จำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งก็คือกรรมการคนเดียวกัน

แต่ทาง “บริษัทสำนักงานบัญชี” แจ้งว่า บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลเป็น “เงินสด” จำนวน 50 ล้านบาท นั้นไม่สามารถกระทำได้! โดยขาดหลักฐานพิสูจน์ว่ามีการจ่ายเงินดังกล่าวจริง คือ

– หลักฐานในการใช้คืนหนี้สินของลูกหนี้ (เงินเข้าบัญชีบริษัท)
– หลักฐานการจ่ายเงินปันผล (เงินออกจากบัญชีบริษัท)

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และทำให้การบันทึกบัญชีเป็นไปอย่างถูกต้องตามมาตรฐานบัญชี

1. กรณีกิจการปันผลเป็น “เงินสด” จำนวนมาก เช่น จ่ายเงินปันผลจำนวน 50 ล้านบาท แต่ไม่มีเงินอยู่จริง เพราะว่า เงินของบริษัทฯ อยู่ในรูปของ “ลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ” ไม่สามารถทำได้

2. เพื่อแก้ปัญหานี้ กิจการไม่สามารถ จ่ายเงินปันผลเป็น “ลูกหนี้เงินกู้ยืมฯ” ของบริษัทฯ

3. กิจการควรแก้ปัญหามีเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ตามจำนวนที่ต้องการจ่ายปันผลในแต่ละรอบ เช่น

….(1) ประกาศจ่ายเงินปันผล 50 ล้านบาท
….(2) ในงวดที่ 1 ให้จ่ายเงินปันผลตามจำนวนเงินสดเท่าที่รวบรวมได้จากลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ และเงินหมุนเวียนของบริษัทฯ เช่น รวบรวมได้ 10 ล้านบาท คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 10% เป็นเงิน 1 ล้านบาท
….(3) รับคืนเงินกู้ยืมกรรมการ อีก 10 ล้านบาท (กรรมการได้รับ 9 ล้านบาท แต่ต้องใช้คืน 10 ล้านบาท) แล้วนำมาจ่ายเงินปันผล คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 10% เป็นเงิน 1 ล้านบาท
….(4) ดำเนินการเช่นนี้ไปจนครบจำนวนเงินปันผลที่ประกาศจ่าย

4. กรรมการใช้สิทธิหักเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หากมีจำนวนเงินภาษีที่ได้รับคืน

ปล. ผมไม่ควรตอบคำถามนี้เลย เพราะไม่ใช่ปัญหาทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

ทุกถ้อยคำที่ตอบเป็นความเห็นส่วนตัว ที่ไม่มีข้อกฎหมายอ้างอิง แต่เคยเห็นว่ามีการดำเนินการเช่นนี้

เงินกู้ยืมกรรมการ - เจ้าหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ

หลักฐานชัดเจนที่กิจการควรมีคือ การโอนเงิน หลักฐานการกู้ยืมเงิน เส้นทางเดินของเอกสาร เส้นทางเดินของตัวเงิน หลักฐานเงินฝาก เพราะในกรณี นี้การไม่มีหลักฐานชัดเจน สรรพากรอาจสงสัยได้ 2 กรณี

  1. มีการขายนอกระบบ ไม่บันทึกขาย บันทึกเข้าเจ้าหนี้แทน
  2. ไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขาย ภพ 30 เนื่องจากไม่บันทึการขายจึงไม่มีการบันทึกรายการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรายงานภาษีขายประจำเดือนนั้น
  3. ไม่รับรู้รายได้จากการขาย เมื่อเกิดการขายและรับเงิน บันทึกบัญชี เดบิต เงินสด เครดิต เจ้าหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ

    กรณีประเด็นที่ 1-3 นั้น ทางเจ้าหน้าที่อาจตรวจสอบพบจากการเข้าสุ่มตรวจนับสินค้าคงเหลือที่มีรายการไม่ตรงกับจำนวนสินค้าคงเหลือทางบัญชี ซึ่งมีผลต่อภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล

  4. เงินทุนไม่พอ จึงเกิดรายการบัญชีนี้ขึ้นมา มีการกู้ยืมกรรมการจริงเพื่อนำมาลงทุนในฝั่งทรัพย์สินของกิจการ เช่น ที่ดินอาคารอุปกรณ์ สินค้าคงเหลือ  -กรณีนี้เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นจริงของบัญชีนี้ ถ้าหากิจการสามารถพิสูจน์การได้มาได้ จะไม่มีประเด็นปัญหาในการตรวจสอบ

    ประเด็นนี้ ในช่วงปี 2560-61 จะพบมากจากการโอนกิจการจากบุคคลธรรมดา มาเป็นนิติบุคคล เช่น กิจการร้านทอง เนื่องจากต้องการได้รับสิทธิ์อัตราลงภาษีของความเป็น SME หรือกิจการบุคคลบางรายมีสินค้า / ทรัพย์สินค่อนข้างมาก เช่น โรงงาน เครื่องจักรที่มีมูลค่าสูง

    หากต้องการลงทุนในทุนกิจการไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อคงสิทธิ์ทางภาษี  SME แต่สินค้าคงเหลือมีมูลค่าสูงกว่าทุนมาก วิธีการแก้ปัญหา

           1. เงินกู้ยืมกรรการ มีสัญญาหลักฐานชัดเจน มีการโอนเงินเข้ากิจการ มีความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนกิจการด้วย และชัดเจนว่าไม่ได้ระดมเงินมาให้กู้เพื่อการนี้ ป้องกันปัญหาภาษีธุรกิจเฉพาะ
           2. ค่าตอบแทนเงินกู้ ดอกเบี้ย / ค่าที่ปรึกษา ค่าบริการ (กรณีที่ไม่ต้องการให้ทราบว่าเป็นเงินลงทุนของกรรมการ)
           3. กู้ยืมธนาคารโดยให้กรรมการเป็นผู้ค้ำประกัน

กิจการจ่ายเงินให้กรรมการแบบใดได้บ้าง

กิจการมีการจ่ายเงินให้กรรมการแบบใดบ้างที่ถือเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีได้ ไม่เข้าเงื่อนไขรายจ่ายต้องห้ามทางภาษี 

เงินเดือนกรรมการ

มุมมองการพิจารณาเพื่อเป็นรายจ่ายที่ภาษีที่ไม่ต้องห้าม หรือไม่ใช่รายจ่ายต้องห้าม คือ กรรมการทำงานเพื่อกิจการจริง ค่าใช้จ่ายไม่เกินสมควรกว่าความจำเป็นทางธุรกิจ (ได้รับเงินตามความเหมาะสมกับรายได้ของกิจการ)

กรรมการให้กิจการเช่าทรัพย์สิน

เพื่อไม่ใช้เข้าเงื่อนไขการเป็นรายจ่ายต้องห้าม ต้องพิจารณา ดังนี้ การเช่าเพื่อประโยชน์ของกิจการ ราคาไม่เกินไปกว่าราคาตลาดตามสมควร มีการทำข้อตกลง(สัญญาอย่างชัดเจน) กรรมการนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครบ

การจ่ายค่าที่ปรึกษากรรมการ

กรรมการมีเงินเดือน 40(1) - รายได้ค่าที่ปรึกษาเป็น 40(1) ด้วย แต่ถ้ากรรมการไม่มีเงินเดือน รายได้ค่าที่ปรึกษา เป็น 40(2)

ค่าอบรมเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับกิจการ

ความรู้เกี่ยวกับกิจการได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้ ตามเงื่อนไขค่าใช้จ่ายบันทึกเป็น 2 เท่า

เงินประกันชีวิตกรรมการ

ประกันให้กับกรรมการทุกคนไม่มียกเว้น กิจการเป็นผู้รับผลประโยชน์ บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายกิจการ กรรมการรับรู้เป็นรายได้ยื่นรวมภงด 90/91

เงินได้ตามมาตรา 40(2) ถ้าได้รับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรรมการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

ประกาศเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับ 205   กำหนดให้การกระทำต่อไปนี้ #ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

การปฏิบัติงานในฐานะกรรมการบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายกำหนด และกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยราชการ

ดังนั้น ถึงแม้ว่าบริษัทจะจ่ายเงินได้ให้กรรมการตามมาตรา 40(2) เนื่องจากว่ากรรมการไม่ได้รับเงินเดือน ตามมาตรา 40(1) เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
กรรมการบริษัทจำกัด  หรือ กรรมการโดยตำแหน่ง  ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
กิจการสามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ถ้าพิสูจน์ได้ว่ากิจการจ่ายตามควร

เพื่อประโยชน์ของกิจการ ไม่เกินความจำเป็น และเหมาะสมแล้ว

ข้อมูลจากเพจ อาจารย์ สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ค่าตอบแทนกรรมการกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

อธิบดีกรมสรรพากร โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 77/1 (10)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 205) เรื่อง การกำหนดการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558
ไว้ดังต่อไปนี้

“การปฏิบัติงานในฐานะกรรมการบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการโดยตำแหน่ง
และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายกำหนด และกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยราชการ”

จากประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

1. ให้ถือว่า การปฏิบัติงานในฐานะกรรมการดังต่อไปนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
(1) กรรมการบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
(2) กรรมการโดยตำแหน่ง
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายกำหนด และ
(4) กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยราชการ

2. เงินได้หรือรายได้จากการปฏิบัติงานในฐานะกรรมการดังกล่าว เป็นรายได้ที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดไป เนื่องจากตามประกาศดังกล่าว มิได้กำหนดวันที่มีผลใช้บังคับ จึงย่อมถือได้ว่า ให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2535 ที่เริ่มใช้บังคับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นมา

กรรมการได้กู้ยืมเงินในนามส่วนตัวมาใช้ในกิจการเป็นจำนวนมากและไม่ได้นำเงินเข้ากิจการ

คุณ ‎‎‎Phichet Isarayothin (26 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09:21 น.)


เรียน อ.สุเทพ ที่เคารพ


ผมได้เข้าไปรับงานทำบัญชีต่อจากคนก่อน พบว่า มีเงินกู้ยืมจากกรรมการจำนวนมาก ข้อเท็จจริงก็คือ กรรมการได้กู้ยืมเงินในนามส่วนตัวมาใช้ในกิจการจริง แต่ไม่ได้ทำหลักฐานที่มอบหมายให้กรรมการเป็นตัวแทนบริษัทฯ ทำการกู้ยืมเงินหรือเอกสารอื่นตามที่ท่านอาจารย์ ได้ตอบข้อหารือ คุณ PuntariKa Toon (21 สิงหาคม 2562) จึงอยากขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ว่า มีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้การที่บริษัทชำระคืนเงินกู้แทนกรรมการไม่เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้่ามครับ


ขอบคุณครับ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์


วิสัชนา:
ตามข้อเท็จจริงในการดำเนินกิจการทางบัญชีพบว่า มีเงินกู้ยืมจากกรรมการจำนวนมาก โดย กรรมการได้กู้ยืมเงินในนามส่วนตัวมาใช้ในกิจการจริง แต่ไม่ได้ทำหลักฐานที่มอบหมายให้กรรมการเป็นตัวแทนบริษัทฯ ทำการกู้ยืมเงินหรือเอกสารอื่นตามที่ท่านอาจารย์ ได้ตอบข้อหารือ คุณ PuntariKa Toon (21 สิงหาคม 2562) นั้น ขอเรียนแนะนำว่า


1. ในเบื้องต้นบริษัทฯ จะไม่มีหลักฐานสนับสนุนการกู้ยืมเงินของกรรมการ ในลักษณะที่บริษัทฯ มอบหมายให้กรรมการเป็นตัวแทนของบริษัทฯ ทำการกู้ยืมเงินจากบุคคลธรรมดาเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินกิจการ โดยบริษัทฯ ยินดีรับภาระเป็นผู้จ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้โดยตรง โดยกรรมการไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ ก็ตาม


2. ให้จัดทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างกรรมการกับบริษัทฯ


3. เมื่อบริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่กรรมการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายจากกรรมการในอัตรา 15% ของเงินได้ และกรรมการต้องนำรายรับค่าดอกเบี้ยไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามาตรา 91/13 แห่งประมวลรัษฎากร

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

เงินกู้ยืมกรรมการเงินกู้ยืมกรรมการ คืนเงินยืมกรรมการ เจ้าหนี้เงินยืมกรรมการ แบบฟอร์มเงินยืมกรรมการ เงินยืมกรรมการ อยู่หมวดไหน รายงานการประชุม ยืมเงินกรรมการ เงินยืมกรรมการ ไม่คิดดอกเบี้ย กรรมการให้บริษัทยืมเงิน คิดดอกเบี้ย การบันทึกบัญชี ลูกหนี้เงินยืมกรรมการ

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่นกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด
สำนักงานใหญ่ TAX ID 0105561120432

Contact us

Post Views: 36,217

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า